Abstract:
บทประพันธ์เพลงดุษฎีนิพนธ์สายลมในมิติสุนทรียญาณเป็นผลงานการประพันธ์ที่พัฒนาวิธีการที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพวาดชุดสายลมในมิติสุนทรียญาณ โดยนำสุนทรียศาสตร์และบทกวีมาสร้างงานประพันธ์เพลงใช้ดนตรีอีสานร่วมกับดนตรีตะวันตกและบรรเลงโดยวงออร์เคสตรา (Orchestra) ประกอบด้วย 3 ท่อน ความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ 30 นาที การประพันธ์เพลงสายลมในมิติสุนทรียญาณ คือกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างดนตรี ภาพวาด และบทกวี โดยใช้สุนทรียศาสตร์และองค์ประกอบศิลป์ร่วมกัน บทประพันธ์นี้แสดงให้เห็นการผสมผสานและการจัดสีสันเสียงของดนตรีแบบไบโทนาลิตี (Bitonality) การใช้โมดผสมกับบันไดเสียงเพนทาโทนิก และใช้การประสานเสียงในแบบผสมผสาน องค์ประกอบที่ใช้ในการประพันธ์คือการดำเนินโมทีฟ และการใช้คอร์ดตามโครงสร้างกลุ่มโมทีฟ การใช้คอร์ดเรียงคู่ 4 และ 5 ใช้ โพลีโฟนี (Polyphony) การเลียนและการซ้ำทำนอง การขยาย (Augmentation) และย่อส่วนจังหวะ (Diminution) การใช้จังหวะขัด (Syncopation) การซ้อนแนวทำนอง (Stratification) การกระชั้นทำนอง (Compression) การพัฒนาทำนองย่อย (Fragmentation) การแปรทำนอง (Motivic development) การสร้างแนวทำนองรอง (Countermelody) โน้ตเสียงค้าง (Pedal point) การสร้างขั้นคู่เพอค์เฟคขนาน (Parallel perfect interval) เป็นต้น บทประพันธ์เพลงดุษฎีนิพนธ์ สายลมในมิติสุนทรียญาณ เป็นดนตรีร่วมสมัยที่ผสมผสานระหว่างดนตรีตะวันออกและดนตรีตะวันตก รวมทั้งยังได้อิทธิพลจากภาพวาดและดนตรีพื้นบ้านสร้างความสอดคล้องกันในมิติของจินตนาการที่นำมาประยุกต์ร่วมกัน