Abstract:
ศึกษาผลของไซโคลสปอรินเอต่อการทำงานของ baroreceptor reflex และการทำหน้าที่ของไต ในสุนัขเพศผู้น้ำหนัก 13-18 กิโลกรัม จำนวน 15 ตัว แบ่งสุนัขทดลองเป็น 3 กลุ่ม และได้รับยาโดยการกิน กลุ่มที่ 1 ได้รับอีนาลาพริลขนาด 0.5 มก.ต่อกก.น้ำหนักตัว นาน 10 วัน กลุ่มที่ 2 ได้รับไซโคลสปอรินเอขนาด 20 มก.ต่อกก.น้ำหนักตัว นาน 7 วัน กลุ่มที่ 3 ได้รับอีนาลาพริลก่อน 3 วัน และให้ร่วมกับไซโคลสปอรินเอ อีก 7 วันในขนาดเดียวกัน การศึกษาทำในช่วงก่อนและหลังได้รับยาเปรียบเทียบกัน โดยวัดความดันเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจ ศึกษาการทำงานของ baroreceptor reflex จากการเหนี่ยวนำให้ความดันเลือดแดงลดต่ำลง ด้วยโซเดียมไนโตรปรัสไซด์ และเหนี่ยวนำให้ความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้นด้วยเฟนนิลเอฟริน บันทึกอัตราการเต้นของหัวใจที่ตอบสนองต่อระดับความดันเลือด ที่เปลี่ยนแปลงไป ศึกษาการทำหน้าที่ของไตหลังจากที่ศึกษาการทำงานของ baroreceptor reflex แล้ว จากการทดลองพบว่ากลุ่มที่ 1 ค่าความดันเลือดแดงต่ำสุดในหลอดเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) โดยอัตราการเต้นของหัวใจไม่เปลี่ยนแปลง กลุ่ม 2 ค่าความดันเลือดแดงเฉลี่ย ค่าสูงสุดในหลอดเลือด และค่าต่ำสุดในหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) แต่อัตราการเต้นของหัวใจไม่เปลี่ยนแปลง และกลุ่ม 3 ระดับความดันเลือดไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ แต่อัตราการเต้นของหัวใจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) การทดสอบการทำงานของ baroreceptor reflex ในกลุ่ม 1 พบว่าทั้งค่าจุดการทำงานและค่าความไวของการทำงานไม่เปลี่ยนแปลง อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเหนี่ยวนำให้ ระดับความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้นและลดต่ำลง ส่วนในกลุ่ม 2 เมื่อเหนี่ยวนำให้ระดับความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้น พบค่าความไวของการทำงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) แต่จุดการทำงานไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อเหนี่ยวนำให้ระดับความดันเลือดลดลงไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ และในกลุ่ม 3 ทั้งจุดการทำงานและความไวของการทำงาน ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจากการศึกษาการทำหน้าที่ของไต พบว่า กลุ่ม 1 อัตราการกรองของไตและการไหลของเลือดและพลาสมาผ่านไต มีแนวโน้มลดลงทำให้ค่าสัดส่วนการกรองมีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับค่าความต้านทานของหลอดเลือดภายในไต ที่มีแนวโน้มลดลง กลุ่ม 2 ค่าความต้านทานของหลอดเลือดภายในไตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับการไหลของเลือดและพลาสมาผ่านไตที่มีแนวโน้มลดลง แต่อัตราการกรองที่ไตไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้ค่าสัดส่วนการกรองที่ไตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กลุ่ม 3 อัตราการกรองที่ไต การไหลของเลือดและพลาสมาผ่านไตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับความต้านทานของหลอดเลือดภายในไตที่มีแนวโน้มลดลง และในกลุ่ม 3 พบอัตราการขับทิ้งของโซเดียมและคลอไรด์ทางไตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับการขับน้ำทิ้งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากการทดลองสรุปได้ว่า ไซโคลสปอรินเอทำให้เกิดความดันเลือดสูงขึ้น และเมื่อได้รับอีนาลาพริลสามารถลดระดับความดันเลือดลงได้ แสดงว่าผลที่เกิดขึ้นเป็นการกระตุ้นผ่านระบบเรนิน-แองจิโอเท็นซิน กลไกของไซโคลสปอรินเอ ในการทำให้ความดันเลือดสูง ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการทำให้ความไวของ baroreceptor reflex ลดลงเมื่อความดันเลือดสูงขึ้น ความบกพร่องของ baroreceptor reflex ในส่วนนี้สามารถทำให้กลับเป็นปกติได้ด้วยการให้อีนาลาพริล