Abstract:
การศึกษาเปรียบเทียบการวัดความดันเลือดแดงโดยตรงและโดยทางอ้อมด้วยวิธี oscillometric ในเสือขณะสลบ โดยใช้เสือโคร่งสุขภาพดีจำนวน 12 ตัว เป็นเพศผู้ 7 ตัว และเพศเมีย 5 ตัว อายุเฉลี่ย 4+-1.39 เดือน น้ำหนักเฉลี่ย 18+-10.65 กก. วางยาสลบโดยใช้ ketamine, xylazine และ atropine sulphate รวมเข็มเดียวกัน บริหารเข้ากล้ามเนื้อ จดบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือดแดง systolic, diastolic และความดันเลือดแดงเฉลี่ย โดยวัดความดันเลือดแดงโดยตรงที่บริเวณข้อเท้าขาหลังซ้าย และวัดความดันเลือดแดงโดยทางอ้อมด้วยวิธี oscillometric ที่ข้อเท้าขาหลังขวา และที่โคนหาง ผลการศึกษาพบว่า เสือขณะสลบมีอัตราการเต้นของหัวใจ 109+-16.27 ความดันเลือดแดงที่วัดโดยตรงมีค่าเฉลี่ยของความดันเลือดแดง systolic เท่ากับ 111+-30.63 มม.ปรอท ของความดันเลือดแดง diastolic เท่ากับ 62+-28.86 มม.ปรอท และของความดันเลือดแดงเฉลี่ยเท่ากับ 81+-30.32 มม.ปรอท ความดันเลือดแดง systolic, diastolic และความดันเลือดแดงเฉลี่ยที่วัดโดยตรงแตกต่างจากที่วัดโดยทางอ้อมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) แต่มีสหสัมพันธ์ต่อกัน ความดันเลือดแดง systolic ที่วัดโดยตรงกับที่วัดโดยทางอ้อมที่ข้อเท้าขาหลังมีสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ 0.80 ในขณะที่ความดันเลือดแดงเฉลี่ยที่วัดโดยตรงกับที่วัดโดยทางอ้อมที่ข้อเท้าขาหลัง มีสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ 0.77 และพบว่า ส่วนใหญ่ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างการวัดโดยตรงกับโดยทางอ้อมที่ข้อเท้าขาหลังมีค่าสูงกว่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างการวัดโดยตรงกับการวัดโดยทางอ้อมที่โคนหาง และวิธีการวัดโดยทางอ้อมที่ข้อเท้าให้ค่าใกล้เคียงกับค่าที่วัดโดยตรงมากกว่าวิธีการวัดโดยทางอ้อมที่โคนหาง แต่ความดันที่วัดโดยทางอ้อมที่ 2 ตำแหน่งดังกล่าวไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ในกลุ่มความดันเลือดแดงเฉลี่ยต่ำกว่า 60 มม.ปรอท ความดันเลือดแดงเฉลี่ยที่วัดโดยทางอ้อมที่ข้อเท้าขาหลังมีสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ 0.87 ส่วนในกลุ่มความดันเลือดแดง systolic ต่ำกว่า 100 มม.ปรอทความดันเลือดแดง systolic ที่วัดโดยตรงกับที่วัดโดยทางอ้อมที่ข้อเท้าขาหลังมีสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ 0.79 และความดันเลือดแดงเฉลี่ยที่วัดโดยตรงกับที่วัดโดยทางอ้อมที่ข้อเท้าขาหลังมีสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ 0.87 จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการวัดความดันเลือดแดงเฉลี่ยโดยทางอ้อมด้วยวิธี oscillometric ที่ข้อเท้าขาหลังให้ค่าประมาณที่สัมพันธ์กันมากกับความดันเลือดแดงเฉลี่ยที่วัดโดยตรงในเสือ และสามารถวัดได้ถึงแม้ว่าจะมีความดันเลือดแดงเฉลี่ยต่ำกว่า 60 มม.ปรอทหรือมีความดันเลือดแดง systolic ต่ำกว่า 100 มม.ปรอท