Abstract:
วัสดุผูกเย็บชนิดโพลีบัสเตอร์แบบเย็บทิศทางเดียว (UPBT) เป็นวัสดุผูกเย็บแบบใหม่ที่ยังไม่มีใช้ในวงการสัตวแพทย์ UPBT พัฒนามาให้ไม่ต้องผูกปมไหมและสามารถคงตัวในเนื้อเยื่อได้ตลอดความยาวแผล วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้วัสดุผูกเย็บ UPBT เปรียบเทียบกับโพลีโพรพิลีน (PP) ซึ่งเป็นวัสดุผูกเย็บมาตรฐานในการใช้ในการเย็บกระบังลมที่ฉีกขาด โดยการทดลองระยะที่ 1 ทำในซากสัตว์ ทำการสร้างรอยกรีดขนาด 4 เซนติเมตร ที่กระบังลมของแมวที่เสียชีวิตมาไม่เกิน 24 ชั่วโมง โดยเก็บที่อุณหภูมิ 4 °C จำนวน 12 ซาก และเย็บเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่ม PP และ กลุ่ม UPBT โดยวัดจากระยะเวลาการเย็บและประสิทธิภาพความทนต่อแรงดึง พบว่ากลุ่ม UPBT สามารถลดระยะเวลาการเย็บแผลมากกว่ากลุ่ม PP อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.01) และกลุ่ม UPBT ยังมีประสิทธิภาพความทนต่อแรงดึงที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) เช่นกัน การทดลองระยะที่ 2 นำวัสดุผูกเย็บชนิดใหม่ UPBT ประยุกต์ ใช้ในการแก้ไขไส้เลื่อนกระบังลมในแมว เปรียบเทียบกัน 2 กลุ่มคือกลุ่ม PP จำนวน 6 ตัวและกลุ่ม UPBT จำนวน 6 ตัว แบ่งกลุ่มแบบสุ่ม ระยะเวลาการเย็บแผลต่อความยาวแผล 1 เซนติเมตร พบว่ากลุ่ม UPBT ใช้เวลาในการเย็บกระบังลมเร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ประเมินผลการตรวจร่างกายเป็นระยะ ตั้งแต่ช่วงหลังผ่าตัดจนถึงการติดตามผลหลังผ่าตัดครบ 1 ปี ผลจากการตรวจร่างกายไม่พบภาวะแทรกซ้อนใดๆ ของทั้ง 2 กลุ่ม 30 วันหลังผ่าตัด กลุ่ม UPBT ไม่พบการกลับมาเป็นซ้ำของไส้เลื่อนกระบังลม มีรูปแบบการหายใจปกติ การติดตามผลหลังผ่าตัด1 ปี พบการเสียชีวิตของแมวในงานวิจัยจำนวน 4 ตัว เป็นกลุ่ม UPBT จำนวน 1 ตัวและกลุ่ม PP 3 ตัว เสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ทั้งนี้มีแมวในงานวิจัยหายออกจากที่พักอาศัย จำนวน 2 ตัว เป็นกลุ่ม UPBT จำนวน 1 ตัว และกลุ่ม PP จำนวน 1 ตัว สรุปได้ว่าการแก้ไขไส้เลื่อนกระบังลมในแมว สามารถใช้วัสดุผูกเย็บชนิด UPBT แทนการใช้วัสดุผูกเย็บชนิด PP ได้โดยระยะเวลาการแก้ไขเร็วกว่าและมีประสิทธิภาพความทนต่อแรงดึงมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การประเมินผลหลังผ่าตัดพบว่าการใช้วัสดุผูกเย็บชนิด UPBT ไม่พบการกลับมาเป็นซ้ำของโรค ไม่พบการเสียชีวิตระหว่างงานวิจัย