Abstract:
วัตถุประสงค์ ศึกษาความสามารถของเครื่องมือตรวจประเมินความเสี่ยงในการประเมินสัมพันธ์ระหว่างการเกิดโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยกับระดับการสะสมของคราบจุลินทรีย์ ระดับเชื้อ สเตรปโตคอคคัส มิวแทนส์ (S. mutans) และคุณสมบัติของน้ำลาย (ระดับความเป็นกรดด่าง และระดับการบัฟเฟอร์กรด) ในเด็กอายุ 1-3 ปี วัสดุและวิธีการ การวิจัยเชิงวิเคราะห์ ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 100 คน ทำการตรวจ และบันทึกรอยโรคฟันผุ วัดระดับการสะสมของคราบจุลินทรีย์โดยใช้หลอดพลาสติกตัดปลายเฉียงมนขูด เก็บตัวอย่างน้ำลายระยะพักเพื่อวัดระดับเชื้อ S. mutans และคุณสมบัติน้ำลาย โดยใช้ชุดตรวจ Saliva-Check MUTANS® และ Saliva-Check BUFFER® ตามลำดับ ผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างมีความชุกของการเกิดโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย ร้อยละ 59 ระดับการสะสมของคราบจุลินทรีย์ และระดับเชื้อ S. mutans ในน้ำลาย มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย แต่ไม่พบความสัมพันธ์กับคุณสมบัติของน้ำลาย กลุ่มที่มีระดับการสะสมของคราบจุลินทรีย์สูง และกลุ่มที่มีระดับเชื้อ S. mutans สูง มีค่าอัตราส่วนออดในการเกิดโรคเป็น 7.9 และ 2.8 เท่า ตามลำดับ ของกลุ่มที่มีระดับต่ำกว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรค ที่มีการสะสมของคราบจุลินทรีย์สูง มีค่าเฉลี่ยจำนวนซี่ และด้านฟันผุ อุด ถอน สูงกว่ากลุ่มที่มีการสะสมระดับต่ำ ซึ่งผลมีลักษณะเดียวกันกับระดับเชื้อ S. mutans สรุป ระดับการสะสมของคราบจุลินทรีย์ และระดับเชื้อ S. mutans ในน้ำลาย มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย โดยไม่พบความสัมพันธ์กับคุณสมบัติของน้ำลาย