Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ ระหว่าง ระยะเวลาการเป็นโรคเบาหวาน ดัชนีมวลกาย ภาวะซึมเศร้า พฤติกรรมการรับประทานอาหาร พฤติกรรมการออกกำลังกาย พฤติกรรมการใช้ยา แรงสนับสนุนทางสังคม กับ ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดของข้าราชการตำรวจที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดได้ กลุ่มตัวอย่าง คือ ข้าราชการตำรวจในราชการ อายุ 30- 59 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และได้รับการรักษาด้วยยาลดระดับน้ำตาลในเลือดแบบรับประทาน ที่เข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลดารารัศมี จำนวน 130 คน โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามภาวะซึมเศร้า แบบสอบถามพฤติกรรมการรับประทานอาหาร แบบสอบถามพฤติกรรมการออกกำลังกาย แบบสอบถามพฤติกรรมการใช้ยา และแบบสอบถามแรงสนับสนุนทางสังคม เครื่องมือทุกชุดได้ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน และมีค่าความเที่ยงเท่ากับ .81, .76, .70, .80 และ .90 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหา ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และ ค่าไคสแควร์ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ระยะเวลาการเป็นโรคเบาหวาน มีความสัมพันธ์ทางบวกกับระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดอย่างมีนัยสำคัญ (r = .22, p <.05) 2. พฤติกรรมการรับประทานอาหาร และแรงสนับสนุนทางสังคม มีความสัมพันธ์ทางลบกับระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดอย่างมีนัยสำคัญ (r = -.21 และ r= -.26 ตามลำดับ, p <.05) 3. ภาวะซึมเศร้า และพฤติกรรมการใช้ยา มีความสัมพันธ์กับระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดอย่างมีนัยสำคัญ (p <.05) 4. ดัชนีมวลกาย และพฤติกรรมการออกกำลังกายไม่มีความสัมพันธ์กับระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด