Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาการเปลี่ยนแปลงของหลักการและหลักปฏิบัติในนโยบาย ODA ของญี่ปุ่นต่อเมียนมาร์ ช่วงทศวรรษ 1990-2010 โดยใช้แนวคิดการปรับคำอธิบาย (framing) ซึ่งเป็นแนวทางการวิเคราะห์ตามการศึกษาแบบ constructivism โดยงานวิจัยชิ้นนี้มีสมมติฐานว่า ภายหลังการประกาศใช้กฎบัตร ODA ปี 2003 ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงเชิงหลักการด้วยการกำหนดให้ความมั่นคงของมนุษย์เป็นแนวทางจัดสรร ODA แก่เมียนมาร์ แต่ในเชิงปฏิบัตินั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามหลักการที่อ้างไว้ จากการศึกษาพบว่า ก่อนการประกาศใช้กฎบัตร ODA ปี 2003 ญี่ปุ่นมีกฎบัตร ODA ปี 1992 เป็นแนวทางจัดสรรความช่วยเหลือ แต่ในกรณีของเมียนมาร์ ญี่ปุ่นไม่ได้ปฏิบัติตามกฎบัตรที่วางไว้ ยังคงจัดสรร ODA เพื่อผูกมิตรกับรัฐบาลทหารและรักษาผลประโยชน์ของตน ด้วยการปรับคำอธิบายว่า เพื่อจูงใจให้รัฐบาลทหารเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ประชาธิปไตยและปกป้องสิทธิมนุษยชน ในปี 2003 กฎบัตร ODA ฉบับใหม่ให้ความสำคัญกับ “ความมั่นคงของมนุษย์” (human security) ที่ส่งเสริมการปลอดจากความอดอยากและความกลัว ในกรณีของเมียนมาร์นั้น ญี่ปุ่นเพียงนำเอาความมั่นคงของมนุษย์มาปรับคำอธิบายให้เห็นว่า การให้ ODA เป็นการช่วยเหลือประชาชนตามแนวคิดสากล แต่ในทางปฏิบัติ ญี่ปุ่นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงตามหลักการที่อ้างไว้ ยังคงใช้ ODA ผูกมิตรกับรัฐบาลทหาร เพื่อรักษาอิทธิพลและผลประโยชน์ของตน ภายหลังการเลือกตั้งปี 2010 ของเมียนมาร์พบว่า ญี่ปุ่นยังคงปรับคำอธิบายเชิงหลักการต่อการให้ODA แก่เมียนมาร์ โดยอ้างว่า เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปประเทศ ในขณะเดียวกันความมั่นคงของมนุษย์ได้ลดความสำคัญลง และในการปฏิบัติพบว่า ญี่ปุ่นใช้ ODA เพื่อเร่งกระชับความสัมพันธ์กับรัฐบาลใหม่ของเมียนมาร์และส่งเสริมผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ รวมถึงแข่งขันกับอิทธิพลของจีน