Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์ต้นทุน และผลประโยชน์ของครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา 2) เพื่อศึกษาเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนโครงการรับซื้อไฟฟ้าฯ และ 3) เพื่อศึกษาผลประโยชน์จากการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าฯ ในส่วนการคำนวณต้นทุนและผลประโยชน์ของครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าฯ ผู้วิจัยอาศัยเครื่องมือ 2 ประการ ได้แก่ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ และการวิเคราะห์ค่าความไว ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้ต่อยอดผลการศึกษาจากวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 เพื่อศึกษาเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนโครงการรับซื้อไฟฟ้าฯ และการศึกษาประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมที่ได้รับจากการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ผู้วิจัยอาศัยเครื่องมือ 2 ประการ ได้แก่ ระยะเวลาคืนทุนทางพลังงาน และอัตราการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลการศึกษาการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ของการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในกรณีทั่วไปและกรณีการวิเคราะห์ค่าความไวพบว่า การลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าฯ ยังไม่คุ้มทุนในทุกขนาดกำลังการผลิต โดยต้นทุนในการผลิตยังสูงกว่ารายรับที่ได้จากการขายไฟฟ้า ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายที่จะสร้างแรงจูงใจให้ครัวเรือนหันมาสนใจและลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ผ่านอัตรารับซื้อไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายในการลงทุนติดตั้งระบบเพื่อสนับสนุนโครงการรับซื้อไฟฟ้าฯ ต่อไป ผลการศึกษาประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พบว่า ระยะเวลาการคืนทุนทางพลังงานของเซลล์แสงอาทิตย์อยู่ในช่วง 1.2 – 1.8 ปี ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอายุการใช้งานของเซลล์แสงอาทิตย์ที่ 30 ปี นอกจากนี้ ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการกระบวนการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 56,379.44 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี โดยสามารถคำนวณเป็นมูลค่าได้ถึง 552,518.52 บาทต่อปี ส่งผลให้ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มีค่ามากกว่าศูนย์