Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งที่จะทำการศึกษามาตรการความปลอดภัยด้านอาหารของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการนำเข้าผักจากประเทศที่สาม โดยศึกษากรณีของประเทศไทย เนื่องจากสินค้าผักของประเทศไทยไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารของสหภาพยุโรปจากปัญหาการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินค่ามาตรฐานปริมาณสารตกค้างสูงสุดในอาหาร และปัญหาการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ Salmonella ซึ่งการกำหนดมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชเป็นกฎเกณฑ์ที่อยู่ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS Agreement) ที่ประเทศสมาชิกมีสิทธิที่จะใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองชีวิตหรือสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ หรือพืช หากว่ามาตรการเหล่านั้นไม่ขัดแย้งกับบทบัญญัติของความตกลงนี้ โดยจะทำการศึกษากฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญในการกำหนดมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของประเทศสมาชิกภายใต้ความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ตลอดจนแนวทางการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารของสหภาพยุโรป เพื่อวิเคราะห์ความสอดคล้องของมาตรการความปลอดภัยด้านอาหารของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการนำเข้าผักจากประเทศที่สามกับความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เพื่อให้ทราบถึงการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization) ที่มุ่งก่อให้เกิดการแข่งขันในการค้าระหว่างประเทศอย่างเป็นธรรม ผลจากการวิเคราะห์ความสอดคล้องของมาตรการความปลอดภัยด้านอาหารของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการนำเข้าผักจากประเทศที่สามกับความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ทำให้ทราบว่ามาตรการสุขอนามัยของสหภาพยุโรปที่ปรับใช้กับการนำเข้าสินค้าผักจากประเทศที่สามนั้น มีทั้งมาตรการที่กำหนดอยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานระหว่างประเทศ มาตรการที่มีความสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ตลอดจนมาตรการที่สูงกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศแต่ก็ได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ แสดงให้เห็นว่าการกำหนดมาตรการสุขอนามัยของสหภาพยุโรปมีความสอดคล้องกับหลักความสอดคล้องกลมกลืนของความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช