Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นการบูรณาการความคล้ายคลึงกันของคลื่นพายุซัดฝั่งและการคลอดบุตร ซึ่งเป็นข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยถ่ายทอดผ่านเทคนิคการเต้นนาฏยศิลป์ร่วมสมัยและลีลารูปแบบที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นทักษะด้านศิลปศาสตร์ แหล่งข้อมูลและเครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย คือ ข้อมูลเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ สื่อสารสนเทศ ข้อมูลภาคสนาม การสัมมนา และประสบการณ์ของผู้วิจัย ข้อมูลดังกล่าวถูกนำมาวิเคราะห์และตอบสนองวัตถุประสงค์ของงานวิจัย คือ การหารูปแบบและแนวคิดของการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์จากคลื่นพายุซัดฝั่ง ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การแสดงประสบความสำเร็จ คือ รูปแบบการสร้างสรรค์งานที่ประกอบไปด้วย 8 องค์ประกอบ และแนวคิดของการสร้างสรรค์งานที่ประกอบด้วย 7 ประเด็น องค์ประกอบของรูปแบบของการแสดงที่ใช้ คือ 1) บทการแสดง ออกแบบบทการแสดงโดยเทียบเคียงความสวยงามและความรุนแรงของธรรมชาติกับการคลอดบุตร 2) ลีลา ใช้เทคนิคการเต้นนาฏยศิลป์ ลีลารูปแบบที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน และเทคนิคการแสดง 3) นักแสดง คัดเลือกนักแสดงที่มีทักษะทางด้านนาฏยศิลป์ร่วมสมัยและการแสดง 4) เสียงและดนตรี ใช้ในการสร้างบรรยากาศของธรรมชาติ เช่น คลื่นน้ำ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า 5) อุปกรณ์ ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการถ่ายทอดเรื่องราวแทนคลื่นน้ำ ผู้ชาย และขาหยั่ง 6) เครื่องแต่งกาย ใช้แสดงลักษณะของตัวละครโดยคำนึงถึงความคล่องแคล่วของนักแสดง 7) แสง ใช้ทฤษฎีของสีในการสร้างสรรค์จินตนาการของผู้ชม และ 8) พื้นที่แสดง เลือกจัดการแสดงในพื้นที่ที่มีความปลอดโปร่ง นอกจากนี้แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ คือ 1) การสะท้อนเรื่องราวของคลื่นพายุซัดฝั่งเทียบเคียงกับการคลอดบุตร 2) การคำนึงถึงผลกระทบของภัยธรรมชาติจากคลื่นพายุซัดฝั่ง 3) การคำนึงถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบการแสดงนาฏยศิลป์ 4) การใช้รูปแบบการแสดงนาฏยศิลป์ที่มีความหลากหลาย 5) การใช้ทฤษฎีทางด้านนาฏยศิลป์และทัศนศิลป์ 6) การสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมในปัจจุบัน และ 7) การใช้สัญลักษณ์ในการสื่อสารเพื่อเพิ่มอรรถรสในการแสดงนาฏยศิลป์ จากผลการวิจัยทั้งหมดนี้มีความสอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์ของงานวิจัยทุกประการ