Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ และเพื่อค้นหาแนวคิดในการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ ถือเป็นการวิจัยเชิงสร้างสรรค์และการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีวิทยาการวิจัยแบบสหสาขาวิชาจากแนวคิดพระพุทธศาสนา ปรัชญาวิทยา สัญญาณวิทยา และศิลปกรรมศาสตร์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบเกณฑ์มาตรฐานศิลปิน แบบวิเคราะห์จากเอกสารและตำรา สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับงานนาฏยศิลป์ และการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์การแสดง และสรุปผล ตามลำดับ ผลการวิจัยพบว่า ในด้านการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์เป็นการนำเรื่องราวของหลักสัจธรรมไตรลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาสร้างสรรค์เป็นงานพุทธศิลป์ลักษณะหนึ่ง โดยเป็นการแสดงสาระสำคัญของอนิจจตา (การเกิดขึ้น) ทุกขตา (การตั้งอยู่) และอนัตตา (การดับไป) สามารถจำแนกตามองค์ประกอบการแสดงนาฏยศิลป์ได้ 8 ประการคือ 1) บทการแสดง สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ภายใต้ลักษณะและความหมายของไตรลักษณ์ 2) นักแสดง มีความสามารถทางด้านนาฏยศิลป์ การสื่อสารอารมณ์และความหมาย 3) ลีลา นำเสนอผ่านรูปแบบนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 4) เสียง ใช้เสียงที่บรรเลงจากเครื่องดนตรีที่สร้างบรรยากาศและความรู้สึกของสมาธิหรือการเข้าฌาน 5) อุปกรณ์การแสดง นำเสนอผ่านแนวคิดมินิมอลลิสม์ (minimalism) ที่เน้นการใช้สัญลักษณ์ ความเรียบง่าย ประหยัด และเข้าใจง่าย คือ ดอกบัวและเทียนไข 6) พื้นที่การแสดง ได้สลายรูปแบบการแสดงดั้งเดิมที่ต้องแสดงในโรงละครเท่านั้น โดยจัดแสดงในพื้นที่แบบเปิดในลักษณะอื่น 7) แสง ใช้แนวคิดทฤษฎีของสีมาช่วยในการถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้สึก และลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ และ 8) เครื่องแต่งกาย ใช้การออกแบบบนพื้นฐานแนวคิดมินิมอลลิสม์ (minimalism) ไม่มุ่งเน้นการแบ่งแยกเพศสภาพและมีความเป็นเอกภาพ นอกจากนี้แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ได้ให้ความสำคัญใน 7 ประเด็นคือ 1) การคำนึงถึงปรัชญาทางพระพุทธศาสนา 2) การคำนึงถึงความเรียบง่ายตามแนวคิดนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 3) การคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ในการแสดงนาฏยศิลป์ 4) การคำนึงถึงสัญลักษณ์ในการแสดงนาฏยศิลป์ 5) การคำนึงถึงทฤษฎีด้านนาฏยศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และทัศนศิลป์ 6) การคำนึงถึงการสะท้อนสภาพสังคมโดยใช้นาฏยศิลป์ และ 7) การคำนึงถึงการแสดงที่สร้างสรรค์เพื่อเยาวชน ดังนั้นผลการวิจัยทั้งหมดนี้จึงมีความสอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์ทุกประการ ผู้วิจัยได้จัดนิทรรศการผลงานนาฏยศิลป์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาคม มีผู้เข้าชมผลงานทั้งสิ้น 249 คน เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษา นิสิตและนักศึกษาทางด้านนาฏยศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านนาฏยศิลป์ นาฏยศิลปิน อาจารย์สอนนาฏยศิลป์ในระดับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ผลจากการประชาพิจารณ์และจากแบบสอบถามสรุปได้ว่า การนำแนวคิดไตรลักษณ์ในพระพุทธศาสนามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของงานนาฏยศิลป์มีความแปลกใหม่และเกิดความท้าทาย ทั้งต่อตัวผู้สร้างงานและผู้ชม และผู้เข้าร่วมชมการแสดงยอมรับรูปแบบและการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์ในครั้งนี้ เห็นว่าเป็นองค์ความรู้ที่ควรเผยแพร่และมีคุณค่าต่อพุทธศาสนิกชนทุกระดับ