Abstract:
บทประพันธ์เพลงดุษฎีนิพนธ์ “สยามดุริยลิขิต” เป็นผลงานการเรียบเรียงเสียงประสานเพลงไทยสำหรับเดี่ยวเปียโน 5 บท เลือกมาจากเพลงไทยต่างประเภทกัน ได้แก่ เพลงโหมโรงไอยเรศ สามชั้น เพลงแสนคำนึง เถา เพลงตับวิวาหพระสมุท เพลงสุดสงวน สามชั้น และเพลงพระอาทิตย์ชิงดวง สองชั้น วัตถุประสงค์หลักของการเรียบเรียงคือเพื่อสร้างสรรค์วรรณกรรมเปียโนที่มีเอกลักษณ์ และเพิ่มพูนวรรณกรรมเปียโนของชาติ ในกระบวนการเรียบเรียง ผู้วิจัยได้ศึกษาเทคนิคการประพันธ์เพลงของบทเรียบเรียงเพลงไทยสำหรับเดี่ยวเปียโนผลงานของนักดนตรีต้นแบบ 2 คน คือครูสุมิตรา สุจริตกุล นักเปียโนต้นแบบของการเดี่ยวเปียโนเพลงไทย และพันเอกชูชาติ พิทักษากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ประจำปีพุทธศักราช 2553 วิธีการเรียบเรียง ใช้เทคนิคการประพันธ์เพลงตะวันตก เป็นการทดลองแนวคิดใหม่ แต่อยู่ภายใต้ขอบเขตสำคัญคือการรักษาทำนองดนตรีไทยไว้ครบถ้วน สามารถบรรเลงตามขนบของดนตรีไทยได้ กรอบแนวคิดที่ใช้ คือแนวคิดเกี่ยวประเภทของบทประพันธ์เพลงคลาสสิกสำหรับเดี่ยวเปียโน ใช้กระบวนการสร้างสรรค์แบบวรรณกรรมเปียโนคลาสสิก โดยนำบทเพลงประเภทสอดประสาน บทเพลงโซนาตา บทเพลงประเภททำนองหลักและการแปร บทเพลงคาแร็กเตอร์ของยุคโรแมนติก บทเพลงในแนวคิดกระแสชาตินิยม และบทเพลงเดี่ยวเปียโนที่เรียบเรียงมาจากบทเพลงขับร้องตะวันตก มาใช้เป็นแนวทางในการตีความและสร้างบุคลิกให้แก่เพลงไทยทั้ง 5 เพลง การใช้แนวคิดของวรรณกรรมเปียโนตะวันตก ทำให้บทเรียบเรียงมีเนื้อหาสาระเชิงบทประพันธ์เพลงที่ผสมผสานสำเนียงดนตรีของตะวันตกและตะวันออก สามารถสร้างสรรค์ให้เพลงไทยสำหรับเดี่ยวเปียโนเป็นวรรณกรรมเปียโนของไทยให้มีความเป็นสากลมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการต่อยอดจากบทเรียบเรียงเพลงไทยสำหรับเดี่ยวเปียโนที่มีมาแต่เดิมให้มีพัฒนาการด้านวิชาการดนตรียิ่งขึ้นต่อไป