Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินความแตกต่างของการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดงมิดเดิลซีรีบรัลในผู้ป่วยสมองขาดเลือดเฉียบพลันที่ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำเป็นเวลา 72 ชั่วโมง เทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ วิธีการวิจัย การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมแบบไม่ปกปิดในผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดเฉียบพลันที่มีอาการไม่เกิน 72 ชั่วโมง ที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวนทั้งหมด 32 ราย อายุ 18-80 ปี, มีค่าคะแนนโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกามากกว่าหรือเท่ากับ 1 โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ 0.9% NaCl ปริมาณ 100 มิลลิลิตร/ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วัน (กลุ่มที่ได้รับสารน้ำ) และกลุ่มที่ไม่ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ (กลุ่มควบคุม) ทั้งสองกลุ่มได้รับการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงก่อนและหลังการได้รับการรักษา โดยติดตามการเปลี่ยนแปลงค่าดัชนีการไหลของเลือดในหลอดเลือดแดงมิดเดิลซีรีบรัล ผลการศึกษา ไม่พบความแตกต่างของการเปลี่ยนแปลงดัชนีการไหลของเลือดในหลอดเลือดแดงมิดเดิลซีรีบรัลเทียบก่อนและหลังการรักษาโดยผลต่างของค่าดัชนีการไหลของเลือดในหลอดเลือดแดงมิดเดิลซีรีบรัลในกลุ่มที่ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.02 (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.13) เทียบกับผลต่างของค่าดัชนีการไหลของเลือดในหลอดเลือดแดงมิดเดิลซีรีบรัลในกลุ่มควบคุมมีค่าเฉลี่ยลดลง 0.004 (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.14) ซึ่งไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.85) และ ผลต่างของความเร็วเฉลี่ยการไหลของเลือดในหลอดเลือดแดงมิดเดิลซีรีบรัลในกลุ่มที่ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำมีค่าเฉลี่ยลดลง 7.27 เซนติเมตรต่อวินาที (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 28.08) เทียบกับผลต่างของความเร็วเฉลี่ยการไหลของเลือดในหลอดเลือดแดงมิดเดิลซีรีบรัลด้านในกลุ่มที่ควบคุมมีค่าเฉลี่ยลดลง 0.73 เซนติเมตรต่อวินาที (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 12.10) ซึ่งไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.24) สรุป การศึกษานี้ แสดงให้เห็นว่า ไม่มีความแตกต่างของค่าดัชนีการไหลของเลือดในหลอดเลือดแดงมิดเดิลซีรีบรัลก่อนและหลังการรักษา เมื่อทำการศึกษาเทียบกันระหว่างผู้ป่วยที่ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ 100 มิลลิลิตรต่อชั่วโมง เป็นเวลา 72 ชั่วโมง กับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ