Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง ณ จุดเวลาหนึ่ง เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดจากงาน รวมทั้งวิธีการจัดการความเครียดของเจ้าหน้าที่เรือนจำความมั่นคงสูง ได้แก่ เรือนจำกลางคลองเปรมและเรือนจำกลางบางขวาง จำนวน 217 คน ใช้วิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิและแบบตามสะดวก เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ประกอบด้วย ปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านงาน ปัจจัยด้านจิตสังคมในงาน แบบประเมินความเครียดจากงานฉบับภาษาไทย และแบบประเมินพฤติกรรมการจัดการความเครียด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดจากงาน โดยใช้สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Chi-square และ Independent t-test ผลการศึกษา พบว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำในการศึกษานี้ส่วนใหญ่ เป็นเพศชาย สมรสแล้ว มีอายุเฉลี่ย เท่ากับ 43±9.90 ปี ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 74.1) มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 15,000 บาท ไปจนถึงมากกว่า 30,000 บาท จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 52.5) มีประสบการณ์ทำงานในเรือนจำความมั่นคงสูงเฉลี่ย 15.1±10.04 ปี และจากผลการศึกษาพบว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำมีความเครียดจากงาน ร้อยละ 22.6 สำหรับปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับความเครียดจากงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ระดับการศึกษา (p-value =0.018) จำนวนครั้งในการออกกำลังกายใน 1 สัปดาห์ (p-value=0.014) แรงสนับสนุนจากงาน (p-value<0.001) แรงสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชา (p-value<0.001) แรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงาน (p-value<0.001) และความมั่นคงในงาน (p-value<0.001) สำหรับการจัดการความเครียด พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 83.9 มีวิธีการจัดการความเครียดแบบมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วยการมุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่ก่อให้เกิดความเครียด และมุ่งเน้นอารมณ์ที่สนับสนุนการแก้ปัญหาอยู่ในระดับสูง ผู้วิจัยเสนอแนะให้หน่วยงานนำปัจจัยด้านการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชาและจากเพื่อนร่วมงาน เป็นแนวทางในการจัดการและป้องกันความเครียดจากงานของเจ้าหน้าที่เรือนจำความมั่นคงสูง โดยจัดให้มีกิจกรรมที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน