Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษากระบวนการการเข้าสู่วาระนโยบายของระบบขนส่งทางรางในประเทศไทย โดยยกโครงการรถไฟความเร็วสูงในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นกรณีศึกษา และการนำตัวแบบพหุกระแสของจอห์น คิงด็อนเข้ามาเป็นกรอบในการทำความเข้าใจความเป็นมาของนโยบาย ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดขึ้นของนโยบาย รวมไปถึงบทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบาย ตลอดไปจนถึงการสร้างตัวแบบเพื่ออธิบายการเข้าสู่วาระนโยบายของโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยใช้วิธีวิทยาทางการวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งได้ข้อมูลมาจากการวิจัยเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก จากผลการวิจัยพบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเข้าสู่วาระนโยบายมาจากสามกระแสซึ่งสอดคล้องกับตัวแบบพหุกระแสของคิงด็อน ได้แก่ กระแสการเมือง กระแสปัญหา กระแสนโยบาย และผู้ผลักดันนโยบายก็มีบทบาทสำคัญต่อการเข้าสู่วาระนโยบายของโครงการรถไฟความเร็วสูงอย่างมาก แต่ในบริบทการเมืองไทย กระแสทั้งสามอาจไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระตามที่คิงด็อนเสนอ ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากรอบแนวคิดดังกล่าวยังต้องอาศัยการพิจารณาภูมิสังคมและกระแสโลกร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นอีกว่าหากต้องการให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นนั้น ปัจจัยทางการเมืองต้องมีเสถียรภาพ อีกทั้งยังต้องมีความพร้อมทางเศรษฐกิจที่รองรับการลงทุนด้วยวงเงินมหาศาลและความตระหนักร่วมกันถึงปัญหาจากประชาชนทั่วไปด้วย