Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทที่เกี่ยวข้องกับการบรรเลงสะล้อสามสาย วิธีการบรรเลงสะล้อสามสาย การดำเนินทำนองและกลวิธีพิเศษที่ปรากฏในการบรรเลงสะล้อสามสายของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศรชัย เต็งรัตน์ล้อมโดยใช้วิจัยเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยมีดังนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศรชัย เต็งรัตน์ล้อมปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มีผลงานด้านการประพันธ์เพลงพื้นบ้านรวม 105 เพลง และบทร้องประกอบการแสดงแสงเสียง ละครเวทีเรื่องน้อยใจยา 9 ฉาก 13 เพลง รวมถึงบทเพลงขับร้องอีก 5 เพลง จากผลงานการประพันธ์ทั้งหมดมี 24 บทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงฟ้อนรำ พ.ศ.2529 ประพันธ์เพลงงาช้างดำขึ้นเป็นเพลงแรก การศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้คัดเลือก 4 บทเพลง คือ เพลงมอญมนต์เขลางค์ เพลงไทลื้อ เพลงสไบ และเพลงทอผ้าลื้อ โดยเป็นเพลงที่มีการดำเนินทำนองที่โดดเด่น หลากหลาย การศึกษาพบว่าทั้ง 4 เพลงจำนวนท่อนแตกต่างกันแต่เป็นทำนองอัตราจังหวะสองชั้นและชั้นเดียวทุกเพลงการดำเนินทำนองแต่ละวรรคเพลงมีลักษณะโต้ตอบกันโดยแบ่งเป็นวรรคหน้าและวรรคหลัง การกำหนดบันไดเสียงพบว่าทั้ง 4 เพลงใช้กลุ่มเสียงทางเพียงออบนและทางชวาเป็นบันไดเสียงหลัก มีการใช้กลุ่มเสียงทางนอกและทางเพียงออล่างเป็นบันไดเสียงรอง กลวิธีการสีสะล้อสามสายของผู้ช่วยศาสตราจารย์ศรชัย เต็งรัตน์ล้อมพบการสีสองสายพร้อมกันทำให้เกิดการประสานเสียง 2 คู่ คือคู่ 5 และคู่ 4 เป็นส่วนใหญ่ ทำนองเพลงที่พบได้แก่ ทำนองเก็บ ทำนองที่เรียงร้อยด้วยการซ้ำเสียง การลดพยางค์เสียงเพื่อเน้นทำนอง การเปลี่ยนเสียงเพื่อเปลี่ยนสำนวนเพลง การเปลี่ยนทำนองจากทำนองหลักเดิมเป็นทำนองใหม่ ซึ่งปรากฏทั้งการเปลี่ยนจากเสียงสูงมาเสียงต่ำและการเปลี่ยนจากเสียงต่ำไปทางเสียงสูง วิธีการสีสะล้อสามสายของผู้ช่วยศาสตราจารย์ศรชัย เต็งรัตน์ล้อม มีลักษณะการปรับเปลี่ยนสำนวนให้เหมาะสมกับระบบเสียงและลักษณะทางกายภาพของสะล้อสามสาย