Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้ ศึกษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองในวัฒนธรรมเพลงไทยสากล ตั้งแต่เกิดแนวเพลงนี้ขึ้นจนถึงปี พ.ศ.2545 โดยมีสมมุตติฐานว่า พื้นที่ของวัฒนธรรมเพลงไทยสากล เป็นพื้นที่ของการต่อสู้ต่อรองเชิงอำนาจ ที่แต่ละฝ่ายพยายามเข้าไปสร้างความเป็นจ้าว โดยผู้ที่จะสามารถครองความเป็นจ้าวในพื้นที่ดังกล่าว จะต้องสร้างฐานอำนาจทั้งในเชิงเศรษฐกิจการเมืองหรือฐานอำนาจในกระบวนการผลิต และฐานอำนาจในทางสังคมวิทยาการเมืองหรือฐานอำนาจทางวาทกรรมความคิด โดยผู้วิจัยได้ตั้งคำถามหลักในการศึกษา คือ 1) โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองในกระบวนการผลิตเพลงไทยสากลมีความเป็นมาอย่างไร 2) ความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางวาทกรรม ทั้งการต่อสู้ต่อรองเพื่อแย่งชิงพื้นที่ในสังคมของแต่ละแนวเพลง และการนำเสนอความคิดผ่านบทเพลงมีความเป็นมาอย่างไร และ 3) ความสัมพันธ์ทางอำนาจทั้งในเชิงเศรษฐกิจการเมืองและในเชิงวาทกรรมในวัฒนธรรมเพลงไทยสากล ส่งผลกระทบอย่างไรต่อการสร้างอำนาจนำและการต่อสู้ต่อรองเชิงอำนาจของผู้ที่เกี่ยวข้องและส่งผลอย่างไรการพัฒนาทางการเมืองไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการพัฒนาประชาธิปไตย ผลการศึกษา พบว่า ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รัฐเป็นผู้มีอำนาจหลักในกระบวนการผลิตเพลง แต่ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ทุนได้เข้ามามีอำนาจแทนรัฐ แต่รัฐก็ไม่ได้สูญเสียอำนาจนำแต่อย่างใด เนื่องจากทุนแสดงตัวเป็นพันธมิตรมากกว่าฝ่ายตรงข้าม ในส่วนของอำนาจเชิงวาทกรรม รัฐก็เป็นผู้แสดงบทบาทหลักในการควบคุมวาทกรรมความคิดตลอดจนการมีอิทธิพลต่อฐานะตำแหน่งของแนวเพลงต่างๆ ในสังคม ทั้งนี้ เมื่อวัฒนธรรมประชานิยมมีพลังมากขึ้น รัฐก็ได้เข้ามาแสดงตนเป็นตัวแทนการให้ความหมาย และดึงเพลงลูกทุ่งมาเป็นฝ่ายเดียวกับรัฐ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและกระแสประชาธิปไตย ก็ส่งผลให้เกิดความหลากหลายมากขึ้นในวัฒนธรรมเพลงไทยสากล ทั้งในส่วนของอำนาจทางการผลิตและการนำเสนอแนวคิดผ่านบทเพลง ก็ได้สะท้อนการพัฒนาประชาธิปไตยไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการยอมรับซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม