Abstract:
งานวิจัยและสร้างสรรค์สื่อนี้เกิดจากการพิจารณาถึงความสำคัญของกระบวนการวิจารณ์ทัศนศิลป์ในประเทศไทย ช่วงปี พ.ศ. 2530 – 2550 : ภายใต้บริบทของโลกาภิวัตน์ และโลกศิลปะ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการสื่อสาร การคมนาคม อย่างกว้างขวางและส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางศิลปะในแนวคิดรูปแบบใหม่ขึ้น ดังปรากฏการณ์ในศิลปะการจัดวาง ศิลปะการแสดงสด สื่อผสม วิดีโออาร์ต และศิลปะแนวทดลองอื่นๆ อย่างแพร่หลาย ที่ทำให้ผู้ชมและผู้มีส่วนร่วมในพื้นที่ปฏิบัติการทางศิลปะได้มีโอกาสสัมผัส รับรู้ สุนทรียะกับวัตถุศิลปะได้อย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ สนทนา แลกเปลี่ยนกันในพื้นที่ของการแสดงงานศิลปะและก่อให้เกิดแรงกระตุ้นในการวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะได้โดยตรงภายในพื้นที่ปฏิบัติการทางศิลปะนั้นๆ โดยการวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษากระบวนการวิจารณ์ทัศนศิลป์ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศของการแลกเปลี่ยน สนทนา โต้ตอบในพื้นที่ของปฏิบัติการทางศิลปะที่สลายเส้นแบ่งของผู้ชม นักวิจารณ์ศิลปะและศิลปิน โดยมีวัตถุศิลปะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงให้เกิดบรรยากาศเชิงสัมพันธ์ขึ้น ด้วยวิธีการศึกษาจากการสร้างกรอบแนวคิด การศึกษาแนวคิด การวิจารณ์ผลงานทัศนศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยในบริบทของโลกาภิวัตน์และโลกศิลปะด้วยแนวคิดปฏิบัติการศิลปะเชิงสัมพันธ์ (relational art) รวมทั้งประสบการณ์ของผู้วิจัย เพื่อนำผลจากการวิเคราะห์และวิจารณ์มาสร้างสรรค์สื่อเป็นรูปเล่มและแบบโปสเตอร์ เผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป