Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) สถานการณ์พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพที่มีผลต่อทุนสุขภาพ (2) การกระจาย และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยกับพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ และ (3) ทุนสุขภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพกับทุนสุขภาพของวัยรุ่นไทย โดยเป็นการศึกษาแบบตัดขวาง (Cross-sectional study) กลุ่มวัยรุ่นอายุ 11-19 ปี ที่กำลังศึกษาระดับมัธยมศีกษา (ม.1-6) และระดับอาชีวศึกษา (ปวช.ปี 1-3) ในกรุงเทพมหานครปีการศึกษา 2556 ใช้แนวทางการวิจัยแบบผสม (Mixed methods research) โดยเป็นการผสมวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ได้กลุ่มตัวอย่างจากการเก็บแบบสอบถามรวมทั้งสิ้น 2,565 คน จาก 26 โรงเรียน และการสัมภาษณ์เชิงลึกจำนวน 30 คน ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยกับพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ และพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพกับทุนสุขภาพใช้การวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกแบบ 2 กลุ่ม (Binomial logistic regression) และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ (Multiple regression) ผสมกับข้อค้นพบจากการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาแบ่งออกเป็น 4 ส่วนสำคัญ ดังนี้ (1) สถานการณ์พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพของวัยรุ่นไทยพบพฤติกรรมเสี่ยงในการกิน (ร้อยละ 28.4) รองลงมาได้แก่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 24.6) การใช้ความรุนแรง (ร้อยละ 20.5) การออกกำลังกายต่ำ (ร้อยละ 12.8) พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ (ร้อยละ 12.3) การสูบบุหรี่ (ร้อยละ 12.0) การใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ (ร้อยละ 5.6) และการใช้สารเสพติด (ร้อยละ 2.9) (2) เมื่อใช้วิธีการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกแบบ 2 กลุ่มและการวิเคราะห์การถดถอยแบบพหุคูณพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในระดับสูงกับพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพของวัยรุ่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเกือบทุกพฤติกรรมคือ พฤติกรรมเสี่ยงของเพื่อนสนิท (OR > 2 และ OR < 7) และปัจจัยอื่นที่มีนัยสำคัญกับบางพฤติกรรมเช่น เพศชาย อายุที่เพิ่มขึ้น เรียนในโรงเรียนเอกชน เรียนในสถาบันอาชีวศึกษา ผลการเรียนเฉลี่ยที่ลดลง ย้ายถิ่นเข้ากรุงเทพฯ โครงสร้างครอบครัวแบบไม่มีพ่อและ/หรือไม่มีแม่ พ่อมีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ความนับถือในตนเองต่ำกว่าระดับปกติ ความสัมพันธ์กับแม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งหมด ความสัมพันธ์กับเพื่อนระดับค่าเฉลี่ยและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งหมด และแม่มีพฤติกรรมเสี่ยง เมื่อพิจารณาอิทธิพลร่วมของเพศกับการมีเพื่อนสนิทมีพฤติกรรมเสี่ยง เห็นได้ชัดว่าวัยรุ่นชายที่มีเพื่อนสนิทมีพฤติกรรมเสี่ยงจะยิ่งมีความเสี่ยงในการมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับสูงมากขึ้น โดยข้อค้นพบจากการวิจัยเชิงคุณภาพพบว่าเพื่อนมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่นสูงมาก (3) ทุนสุขภาพหมายถึงการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี โดยพบว่ามากกว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ 36.3) ของวัยรุ่นมีทุนสุขภาพดี โดยวัยรุ่นเพศทางเลือก(หญิง) (ร้อยละ 38.5 ของ 52 คน) มีสัดส่วนของทุนสุขภาพดีสูงกว่าสัดส่วนของเพศอื่น เมื่อพิจารณาทุนสุขภาพแยกเป็นสุขภาพกายและสุขภาพจิตพบว่ามากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 52.5) ของวัยรุ่นมีสุขภาพกายดี โดยวัยรุ่นหญิง (ร้อยละ 53.3 ของ 1,195 คน) มีสัดส่วนของสุขภาพกายดีสูงกว่าสัดส่วนของเพศอื่น และเกือบ 2 ใน 3 (ร้อยละ 65.3) ของวัยรุ่นมีสุขภาพจิตดี โดยวัยรุ่นชาย (ร้อยละ 66.5 ของ 1,285 คน) มีสัดส่วนของสุขภาพจิตดีสูงกว่าสัดส่วนของเพศอื่น (4) จากการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกแบบ 2 กลุ่ม ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างทุนสุขภาพกับพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ แต่เมื่อวิเคราะห์แยกเป็นสุขภาพกายและสุขภาพจิตแล้วพบว่ามีเพียงพฤติกรรมเสี่ยงในความรุนแรงที่มีความสัมพันธ์ในทางลบกับสุขภาพจิต แต่เมื่อคุมด้วยตัวแปรอิสระอื่นแล้วไม่พบความสัมพันธ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในทางลบในระดับสูงกับทุนสุขภาพ รวมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตคือ ความนับถือในตนเองต่ำกว่าระดับปกติ (OR > 0.2 และ OR < 0.8) และปัจจัยอื่นที่มีความสัมพันธ์ในทางลบกับทุนสุขภาพและสุขภาพจิตได้แก่ ความสัมพันธ์กับพ่อต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งหมด ความสัมพันธ์กับแม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งหมด ส่วนปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับทุนสุขภาพและสุขภาพจิตคือ ผลการเรียนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในทางบวกเฉพาะกับทุนสุขภาพคือ เรียนในโรงเรียนเอกชน และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในทางบวกเฉพาะกับสุขภาพจิตคือเพศชาย ส่วนปัจจัยโครงสร้างครอบครัวแบบไม่มีพ่อและ/หรือไม่มีแม่ และความสัมพันธ์กับเพื่อนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งหมด มีความสัมพันธ์ในทางลบกับสุขภาพจิตเท่านั้น ซึ่งข้อค้นพบจากการวิจัยเชิงคุณภาพพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่นกับคนในครอบครัวมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของวัยรุ่น โดยสรุปข้อค้นพบทั้งหมดในการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าปัจจัยพฤติกรรมเสี่ยงของเพื่อนสนิทมีความสัมพันธ์ในระดับสูงกับพฤติกรรมเสี่ยงของวัยรุ่น แม้จะไม่พบความสัมพันธ์ของพฤติกรรมเสี่ยงกับทุนสุขภาพ แต่การใช้ความรุนแรงเป็นเพียงพฤติกรรมเสี่ยงเดียวที่มีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิต อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์กับพ่อและแม่มีความสัมพันธ์กับทุนสุขภาพโดยเฉพาะสุขภาพจิตซึ่งเห็นได้ชัดเจนกว่าความสัมพันธ์ของพฤติกรรมเสี่ยงกับทุนสุขภาพ รวมทั้งความนับถือในตนเองมีความสัมพันธ์กับทุนสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของวัยรุ่น ความสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่นกับคนในครอบครัว และเพื่อน โดยสนับสนุนให้มีแนวทางสร้างวัยรุ่นให้เป็นวัยรุ่นที่มีความสุข เพื่อเป็นทุนสุขภาพดีของวัยรุ่นและนำไปสู่การเป็นประชากรที่มีคุณภาพต่อไป