Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลหลักและอิทธิพลปฏิสัมพันธ์ของความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรม กับกระบวนการรู้คิดสองรูปแบบ (แบบอัตโนมัติ - แบบใคร่ครวญ), ชะตากรรมของตัวละครสำคัญ (ชะตากรรมไม่ดี - ชะตากรรมดี - ชะตากรรมไม่ปรากฎ) และรูปแบบสถานการณ์ (สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต - สถานการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิต) ต่อการประเมินตัดสินในบริบทของสถานการณ์ที่มีภาวะยุ่งยากในทางเลือกเชิงจริยธรรม โดยศึกษากับกลุ่มตัวอย่างระดับปริญญาตรี ช่วงอายุ 18-25 ปี จำนวนรวม 720 คน แบ่งออกเป็นสองการศึกษา ได้แก่ การศึกษาที่ 1 ชะตากรรมของตัวละครสำคัญอยู่ที่ผู้ถูกกระทำ และการศึกษาที่ 2 ชะตากรรมของตัวละครสำคัญอยู่ที่ผู้กระทำ จากการศึกษาไม่พบอิทธิพลของความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรม แต่พบอิทธิพลปฏิสัมพันธ์ระหว่างชะตากรรมของตัวละครสำคัญกับรูปแบบสถานการณ์ ที่ส่งผลต่อการตัดสินด้านจริยธรรม ได้แก่ 1. การศึกษาที่ 1 พบว่า ผู้ร่วมการทดลองยอมรับการละเมิดจริยธรรม ต่อผู้ถูกกระทำที่มีชะตากรรมไม่ดี ในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต มากกว่าในสถานการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิต (p < .05) 2. การศึกษาที่ 2 พบว่า ผู้ร่วมการทดลองยอมรับการละเมิดจริยธรรม เมื่อผู้กระทำมีชะตากรรมที่ดี ใน สถานการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิต มากกว่าในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต (p < . 01) 3. ทั้งการศึกษาที่ 1 และ 2 พบว่า ผู้ร่วมการทดลองยอมรับการละเมิดจริยธรรม เมื่อตัวละครสำคัญไม่มีชะตากรรมปรากฎออกมา ในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตน้อยกว่าในสถานการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิต (p < .01, p < .001 ตามลำดับ)