Abstract:
ปลากระเบนน้ำจืดสายพันธุ์โมโตโร่ (Potamotrygon motoro) จัดเป็นปลาเศรษฐกิจสวยงามชนิดหนึ่งของประเทศไทย แต่ยังขาดข้อมูลพื้นฐานด้านการวิจัยโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีการรีดเก็บน้ำเชื้อในปลากระเบน และศึกษาลักษณะรูปร่างทางกายภาพของตัวอสุจิปลากระเบนชนิดนี้ มีการประเมินคุณภาพน้ำเชื้อสด รวมไปถึงการหาสูตรที่เหมาะสมของสารเจือจางน้ำเชื้อ อัตราส่วนของสารเจือจางน้ำเชื้อกับน้ำเชื้อต่อระยะเวลาในการเก็บรักษาน้ำเชื้อปลากระเบนแบบแช่เย็น ชนิดและความเข้มข้นของสารป้องกันการแข็งตัวที่เหมาะสมในการเก็บรักษาน้ำเชื้อปลากระเบนแบบแช่แข็ง เพื่อประโยชน์ในการใช้น้ำเชื้อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถนำน้ำเชื้อไปผสมเทียมต่อไปในอนาคตได้ การทดลองนี้ได้ทำการเก็บน้ำเชื้อจากปลากระเบนน้ำจืดเพศผู้สายพันธุ์โมโตโร่จำนวน 10 ตัว ด้วยวิธีบีบรีดจากบริเวณท้องโดยปราศจากการวางยาสลบ เพื่อนำมาประเมินคุณภาพน้ำเชื้อสดและศึกษารูปร่างของตัวอสุจิ จากนั้นทำการศึกษาการเก็บรักษาน้ำเชื้อด้วยวิธีการแช่เย็นและแช่แข็ง โดยสารเจือจางน้ำเชื้อชนิดต่างๆที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ Hank's Balanced Salt Solution (HBSS), Calcium-Free Hank's Balanced Salt Solution (Ca-F HBSS), Normal Saline Solution (NSS) และ Modified Fish Ringer’s Solution (MFR) และสารป้องกันการแข็งตัวที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ 5% Glycerol, 10% Glycerol, 5% (Dimethyl sulfoxide) DMSO และ 10% DMSO ผลจากการประเมินคุณภาพของน้ำเชื้อสดพบว่ามีสีขาวเข้ม ความหนืดคล้ายครีม ปริมาตรของน้ำเชื้อที่รีดได้ในแต่ละครั้ง 0.53±0.15 มิลลิลิตร ค่าความเป็นกรดด่าง 7.3±0.26 ความเข้มข้นของตัวอสุจิ 2.28±0.46 x109 ตัวต่อมิลลิลิตร เปอร์เซ็นต์การเคลื่อนไหวของอสุจิ 98.5±2.42% เปอร์เซ็นต์ของอสุจิอัดแน่น 15.4±2.88% และเปอร์เซ็นต์การมีชีวิตของอสุจิ 89.8±3.36% ขนาดความยาวของตัวอสุจิจากหัวถึงหาง 116.34±1.92 ไมโครเมตร มีลักษณะหัวเรียวยาวแหลมบิดเป็นเกลียว หางเป็นเกลียวน้อยกว่า จึงทำให้มีการว่ายแบบลักษณะหมุนควง น้ำเชื้อสดตัวอสุจิสามารถมีชีวิตอยู่ได้ 6 วัน เมื่อนำมาใส่สารเจือจางน้ำเชื้อแล้วทำการแช่เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส พบว่าน้ำเชื้อผสม Ca-F HBSS ในอัตราส่วน 1:1 มีประสิทธิภาพดีที่สุด สามารถเก็บรักษาน้ำเชื้อได้ 11 วัน จึงเลือกมาใช้ในกระบวนการแช่แข็งต่อไป จากนั้นศึกษาการเก็บรักษาน้ำเชื้อแช่แข็งในไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เมื่อนำมาละลายและตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ พบว่าสารป้องกันการแข็งตัวที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือ 5% Glycerol ซึ่งมีความแตกต่างจากกลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) โดยมีอัตราการเคลื่อนที่ของอสุจิ 42.0±3.50% และมีอัตราการรอดชีวิตของอสุจิ 42.9±2.85%