Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์จุดมุ่งหมายการใช้นโยบายเศรษฐกิจนำความมั่นคงของรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ต่อรัฐบาลทหารเมียนมาร์ และชนกลุ่มน้อยของเมียนมาร์ ปัจจัยที่ส่งผลต่อนโยบายรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ต่อชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน เหตุผลที่รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ยังคงรักษาความสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลเมียนมาร์ และปัจจัยชนกลุ่มน้อยส่งผลกระทบอย่างไร ต่อความสัมพันธ์ไทย-เมียนมาร์ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ นำเสนอแบบการวิเคราะห์เชิงพรรณนา โดยศึกษาจากเอกสารทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศของไทยต่อรัฐบาลทหารเมียนมาร์ และชนกลุ่มน้อย ตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นมาจนถึงยุครัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผลการวิจัยได้ค้นพบว่า การใช้แนวทางเศรษฐกิจนำความมั่นคงของรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ต่อรัฐบาลทหาร และชนกลุ่มน้อยของเมียนมาร์ ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันในเชิงนโยบายและปฏิบัติของฝ่ายไทย นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลต่อเมียนมาร์ มีเป้าหมายที่ต้องการรื้อฟื้นและกระชับความสัมพันธ์อันดีกับเมียนมาร์ ตามนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่สถานการณ์ความขัดแย้งบนพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาร์ ทางภาคเหนือของไทย การดำเนินยุทธศาสตร์ทางความมั่นคงของกองทัพที่เลือกใช้แนวทางการทหารและดำเนินนโยบายกันชน ด้วยการสนับสนุนกองกำลังไทยใหญ่ SSA(Shan State Army) ที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลทหารเมียนมาร์ สร้างความไม่พอใจต่อรัฐบาล SPDC (State Peace and Development Council) เป็นอย่างมาก ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เมียนมาร์ ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ แนวทางของกองทัพจึงไม่สนองตอบกับนโยบายของรัฐบาล จน พ.ต.ท. ทักษิณ ได้ออกมาประกาศยกเลิกนโยบายกันชนและเข้าแทรกแซงกองทัพ เพื่อยุติความขัดแย้ง แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลไทยยังให้การสนับสนุนกองกำลังไทยใหญ่อย่างไม่เปิดเผย เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากยาเสพติดที่มาจากแหล่งผลิตของกลุ่มว้าแดง UWSA (the United Wa State Army) พันธมิตรของรัฐบาลทหารเมียนมาร์ การดำเนินนโยบายกันชนอย่างไม่เปิดเผย จึงคงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทย-เมียนมาร์ โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลคาดไว้