Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบอัตราภาษีทางตรง และภาษีทางอ้อมที่ทำให้สวัสดิการสังคม (Social Welfare) ของประเทศไทยสูงสุด และทิศทางการปรับอัตราภาษีของประเทศไทย โดยใช้วิธีการจำลองสถานการณ์ (Simulation) การเก็บภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อมภายใต้สวัสดิการสังคมแบบต่างๆ ผ่านพารามิเตอร์ที่กำหนดฟังก์ชันสวัสดิการสังคมหรือแสดงถึงการให้น้ำหนักความสำคัญกับครัวเรือนในสังคม (gamma) และประยุกต์ใช้กรอบแนวคิดภาษีอุตมภาพ (Optimal Tax) โดยใช้แบบจำลองสถิต (Static Model) และกำหนดให้ระบบเศรษฐกิจประกอบด้วยภาคครัวเรือนและภาครัฐบาลเท่านั้น และครัวเรือนมีฟังก์ชันอรรถประโยชน์แบบ CES (Constant Elasticity of Substitution) โดยใช้ข้อมูลจากรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey: SES) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (Secondary Data) ปีพ.ศ. 2554 จากการจำลองสถานการณ์ (Simulation) ในกรณีที่ฟังก์ชันสวัสดิการสังคมเป็นแบบอรรถประโยชน์นิยม พบว่า อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และอัตราภาษีการบริโภคที่ทำให้สวัสดิการสังคมมีค่าสูงสุด เท่ากับร้อยละ 0 และร้อยละ 13.49 ตามลำดับ จะเห็นได้ว่า กรณีนี้จะเก็บเฉพาะภาษีการบริโภคเท่านั้น และรัฐบาลยิ่งให้น้ำหนักกับครัวเรือนยากจนมากขึ้น อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอัตราภาษีการบริโภคที่ทำให้สวัสดิการสังคมมีค่าสูงสุดจะเพิ่มขึ้นและลดลงตามลำดับ อีกทั้ง ผลลัพธ์ดังกล่าว ทำให้รายได้เฉลี่ยหลังเก็บภาษีและค่าดัชนีไทล์ (Theil Index) ลดลง แสดงให้เห็นว่า ความเป็นธรรมในสังคมเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนในสังคมมีรายได้ใกล้เคียงกันมากขึ้น แต่ความมีประสิทธิภาพลดลง เนื่องจากการเก็บภาษีทำให้เกิดการบิดเบือนแรงจูงใจในการตัดสินใจทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้เสียภาษี สะท้อนให้เห็นการได้อย่างเสียอย่าง (Trade-off) ระหว่างความมีประสิทธิภาพและความเป็นธรรม นอกจากนี้ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีบริโภคที่จัดเก็บในปัจจุบันของประเทศไทยไม่ได้ทำให้สวัสดิการสังคมสูงสุด หากต้องการที่จะปรับอัตราภาษีให้เป็นอัตราภาษีที่ทำให้สวัสดิการสังคมสูงสุด ทิศทางที่รัฐบาลสามารถทำได้ คือ หนึ่ง กรณีที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับคนในสังคมเท่าเทียมกัน เพิ่มอัตราภาษีเงินได้ และเพิ่มรายได้จากแรงงานขั้นต่ำที่ได้รับการยกเว้นภาษี และสอง กรณีที่รัฐบาลต้องการเพิ่มความเป็นธรรมในสังคม ต้องยอมให้ประสิทธิภาพจะลดลง โดยรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับคนฐานะปานกลางหรือฐานยากจนมากขึ้น โดยใช้วิธีการปรับเพิ่มอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มรายได้ขั้นต่ำที่ได้รับการยกเว้นภาษี และลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม