Abstract:
การศึกษาเรื่อง การสร้างความหมาย และมูลค่าของการเช่าบูชาพระเครื่องหลวงปู่ทวด มีวัตถุประสงค์ของการศึกษา 2 ประการ คือ เพื่อศึกษาการกระบวนการสร้างความหมายและสร้างมูลค่าของพระเครื่องหลวงปู่ทวด และศึกษารูปแบบการบริโภคพระเครื่องหลวงปู่ทวดของผู้เช่าบูชา ด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ร้านขายพระเครื่องจำนวน 5 ร้าน และผู้เช่าบูชาพระเครื่องหลวงปู่ทวดจำนวน 7 ท่าน แบ่งการพิจาณาออกเป็น 2 ด้าน คือ ในด้านอุปทาน จะใช้แนวคิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งธรรมดา (Sacred and Profane) และแนวคิดกระบวนการกลายเป็นสินค้า (Commodification) เป็นกรอบในการศึกษา ส่วนในด้านอุปสงค์จะใช้ตรรกวิทยาแห่งการบริโภค (Logic of Consumption) เป็นกรอบในการศึกษา จากการศึกษา พบว่า พระเครื่องหลวงปู่ทวดถูกสร้างความหมายให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากกระบวนการสร้างพระเครื่อง ได้แก่ มวลสารและพิธีการปลุกเสก รวมถึงการเผยแพร่เรื่องราวอภินิหารในประวัติของหลวงปู่ทวด และประสบการณ์อภินิหารที่ผู้ครอบครองพระเครื่องพบเจอ ผ่านสื่อต่างๆ เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสารพระเครื่อง โทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้เกิดความนิยมในพระเครื่องหลวงปู่ทวด โดยพระเครื่องหลวงปู่ทวดรุ่นแรกที่ถูกสร้าง คือ เนื้อว่าน ปี 2497 และหลังจากนั้นก็มีการสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดอีกหลายรุ่น ทั้งจากอาจารย์ทิม วัดช้างให้ และจากหลายวัด หลายเกจิอาจารย์ ซึ่งหลวงปู่ทวดเกิดการเปลี่ยนแปลงจากเกจิภาคใต้กลายเป็นเกจิระดับภูมิภาค ในช่วงปี พ.ศ. 2505 จากการสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวด โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฑัมพร และมีสื่อเป็นตัวช่วยในการขยายความศรัทธาให้แพร่กระจายไปทุกพื้นที่ ไม่ใช่แค่พื้นที่ภาคใต้เท่านั้น นอกจากนี้ ตลาดพระเครื่องยังมีส่วนช่วยทำให้พระเครื่องได้รับความนิยม เนื่องจากทำให้พระเครื่องกลายเป็นสินค้าที่มีสภาพคล่อง โดยเฉพาะพระเครื่องหลวงปู่ทวดที่เป็นพระที่ได้รับความนิยม ซื้อง่ายขายคล่อง สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้รวดเร็ว ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อราคาพระเครื่องหลวงปู่ทวด ได้แก่ ความหายาก ความสวยงาม ประสบการณ์อภินิหาร ชื่อรุ่น การมีพระปลอม กระแสความนิยม ภาวะเศรษฐกิจ และการประกวดพระเครื่อง โดยพุทธคุณที่โด่งดังของพระเครื่องหลวงปู่ทวด คือ พุทธคุณด้านแคล้วคลาด เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้สมัยก่อนมีความไม่ปลอดภัยและถนนหนทางไม่ค่อยดีนัก ประสบการณ์ของพระเครื่องหลวงปู่ทวดจึงเน้นไปทางด้านแคล้วคลาด สำหรับการศึกษาตรรกวิทยาแห่งการบริโภค (Logic of Consumption) ที่ผู้เช่าบูชาพระเครื่องหลวงปู่ทวดได้รับมากที่สุด คือ ตรรกะของมูลค่าใช้สอย (Logic of Use Value) โดยการใช้พระเครื่องหลวงปู่ทวดเพื่อคุ้มครองตนเองให้แคล้วคลาดปลอดภัย และตรรกะมูลค่าการแลกเปลี่ยน (Logic of Exchange Value) คือ เลือกเช่าพระเครื่องรุ่นที่มีความนิยม เพื่อเป็นการลงทุนในพระเครื่อง