Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาอิทธิพลของการสนับสนุนจากครอบครัว และความหมายในชีวิตที่มีต่อสุขภาวะในเยาวชนผู้กระทำผิดที่ใช้สารเสพติด และ (2) ศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจด้านการสนับสนุนจากครอบครัว ความหมายในชีวิต และสุขภาวะของเยาวชนผู้กระทำผิดที่ใช้สารเสพติด โดยใช้รูปแบบการวิจัยแบบผสานวิธี กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเชิงปริมาณเป็นเยาวชนผู้กระทำผิดที่ใช้สารเสพติด จำนวน 249 คน กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเชิงคุณภาพเป็นเยาวชนผู้กระทำผิดที่ใช้สารเสพติดที่ตอบแบบสอบถามในการวิจัยเชิงปริมาณแล้ว จำนวน 8 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล มาตรวัดการสนับสนุนจากครอบครัว มาตรวัดความหมายในชีวิต มาตรวัดสุขภาวะ และแนวคำถามสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้โมเดลสมการโครงสร้างด้วยโปรแกรมลิสเรล (LISREL) ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์ข้อมูลแบบตามแบบธีมาติคของโคไลซ์ซี่ ผลการวิจัยพบว่า โมเดลเชิงสาเหตุของการสนับสนุนจากครอบครัวที่มีต่อสุขภาวะในเยาวชนผู้กระทำผิดที่ใช้สารเสพติด โดยมีความหมายในชีวิตเป็นตัวแปรส่งผ่าน มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ( = 25.49, df = 22, p = .27, GFI = .98, RMSEA = .03) ทั้งนี้ การสนับสนุนจากครอบครัวและความหมายในชีวิตสามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของสุขภาวะ ได้ร้อยละ 49 (R2 = .49, p < .01) โดยการสนับสนุนจากครอบครัวมีอิทธิพลต่อสุขภาวะในเยาวชนผู้กระทำผิดที่ใช้สารเสพติดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีค่าอิทธิพลรวมต่อสุขภาวะสูงที่สุด (β = .64, p < .01) รองลงมาเป็นอิทธิพลทางตรงของการสนับสนุนจากครอบครัวต่อสุขภาวะ (β = .50, p < .01) และค่าอิทธิพลทางอ้อมผ่านความหมายในชีวิต (β = .13, p < .01) ตามลำดับ นอกจากนี้ ความหมายในชีวิตมีอิทธิพลทางตรงต่อสุขภาวะเท่ากับ .32 (β = .32, p < .01) ด้านผลการวิจัยเชิงคุณภาพ พบ 5 ประเด็นหลัก คือ การขาดการยั้งคิดทำให้กระทำผิดและใช้สารเสพติด การเริ่มตระหนักรู้ในสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพร่างกาย มุมมองที่เปลี่ยนไปในความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรอบข้าง การเรียนรู้การจัดการอารมณ์ ความรู้สึกของตน และการเติบโตงอกงามของสุขภาวะที่เกิดขึ้นภายหลังการเข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกฯ