Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจและความหมายของความเชื่อมโยงกับธรรมชาติผ่านการทำสวนในผู้สูงอายุที่มีศักยภาพในการดำเนินชีวิต โดยใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยาเชิงตีความในการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้สูงอายุจำนวน 8 ราย คัดเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนด และเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบ 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การเห็นประโยชน์ของต้นไม้และการทำสวน ประกอบด้วย 4 ประเด็นย่อยคือ การรับรู้ว่าต้นไม้มีประโยชน์ต่อชีวิต การทำสวนเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับร่างกายผู้สูงอายุ ต้นไม้และการทำสวนสามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล และการปลูกต้นไม้มีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ (2) ความรู้สึกรักและผูกพันกับต้นไม้ ประกอบด้วย 3 ประเด็นย่อยคือ ความรัก ความผูกพันกับต้นไม้ การใส่ใจดูแลอย่างเข้าใจ และการดูแลตระหนักถึงคุณค่าของต้นไม้ (3) ความสุขที่เกิดจากต้นไม้และการทำสวน ประกอบด้วย 3 ประเด็นย่อย คือ เป็นสุข คลายทุกข์ ขณะที่อยู่กับต้นไม้ สุขใจจากความงอกงาม และต้นไม้เป็นเพื่อนใจ คลายเหงาและปรับทุกข์ (4) มีต้นไม้เป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต ประกอบด้วย 3 ประเด็นย่อย คือ เรียนรู้ที่จะดูแลตนเอง เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเข้าใจและยอมรับ และเรียนรู้การใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ และ (5) ความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้คน ชีวิต และธรรมชาติ ประกอบด้วย 3 ประเด็นย่อยคือ การระลึกถึงเรื่องราวและบุคคลที่สำคัญในชีวิต สานสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว และการเข้าถึงธรรมะและสัจธรรม มีการอภิปรายถึงแนวทางการนำไปใช้สำหรับนักจิตวิทยาการปรึกษาและผู้ที่ทำงานด้านการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ