Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบความสอดคล้องระหว่างแนวคิดการบริการสาธารณะแนวใหม่กับการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในบริบทของประเทศไทย และเพื่อศึกษาสาเหตุของความสอดคล้องและไม่สอดคล้องระหว่างแนวคิดการบริการสาธารณะแนวใหม่กับการจัดการศึกษา ผู้วิจัยได้เลือกเทศบาลในจังหวัดบุรีรัมย์ทั้งหมด 62 แห่งเป็นพื้นที่ศึกษา ประกอบด้วย เทศบาลเมือง 3 แห่ง และเทศบาลตำบล 59 แห่ง ซึ่งมีสถานศึกษาทั้งสิ้นจำนวน 148 แห่ง ได้แก่ โรงเรียน 7 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 141 แห่ง ผู้วิจัยใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม จำนวน 1,036 ชุด และการสัมภาษณ์เชิงลึก จากกลุ่มผู้จัดบริการการศึกษา ได้แก่ นายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาล ผู้อำนวยการกองการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา หัวหน้าสถานศึกษา ครูผู้สอน และกลุ่มผู้รับบริการ คือ ผู้ปกครองนักเรียน ผลจากการวิจัยโดยสรุปมีดังนี้ 1) แนวคิดการบริการสาธารณะแนวใหม่ในภาพรวมกับการจัดการศึกษาไม่มีความสอดคล้องกัน ณ ระดับนัยสำคัญ 0.05 เมื่อแยกเป็นรายประเด็นตามหลักการทั้ง 7 ประการ พบว่าประเด็นที่สอดคล้องกัน ได้แก่ การให้บริการพลเมืองไม่ใช่การให้บริการลูกค้า การคิดเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติอย่างเป็นประชาธิปไตย ความรับผิดชอบไม่ใช่เรื่องง่าย และการให้บริการมากกว่าการกำกับดูแล ส่วนการแสวงหาผลประโยชน์สาธารณะ การให้คุณค่ากับพลเมืองเหนือความเป็นผู้ประกอบการ และการให้คุณค่ากับประชาชนไม่ใช่แค่เน้นที่ผลผลิตไม่มีความสอดคล้องกันระหว่างแนวคิดการบริการสาธารณะแนวใหม่ในภาพรวมกับการจัดการศึกษา 2) ความสอดคล้องระหว่างแนวคิดการบริการสาธารณะแนวใหม่กับการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดจากสาเหตุ 4 ประการคือ 1) กระแสการสร้างพลเมือง 2) หลักการของการปกครองส่วนท้องถิ่น 3) ข้อกำหนดของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา และ 4) กระแสประชาธิปไตยของประเทศไทย ส่วนสาเหตุของความไม่สอดคล้องนั้นเกิดจาก 1) การผสมผสานระหว่างแนวคิดการบริการสาธารณะแนวใหม่กับการบริหารจัดการภาครัฐแบบเก่า และ 2) การผสมผสานระหว่างแนวคิดการบริการสาธารณะแนวใหม่กับแนวคิดการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่