Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน กรณีศึกษา เทศบาลนครปากเกร็ด ในมิติของการกระจายอำนาจและลักษณะการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยศึกษาเปรียบเทียบผ่านการจัดการอุทกภัยในปี พ.ศ. 2538 และ ปี พ.ศ. 2554 ของเทศบาลนครปากเกร็ด เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาด้านการกระจายอำนาจและการจัดการภัยพิบัติของท้องถิ่น พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการแก้ไข ผู้ศึกษาอาศัยการศึกษาข้อมูลจากเอกสารและดำเนินการศึกษาวิจัยภาคสนามด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ การสังเกต การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่ม โดยผู้ให้ข้อมูลสำคัญเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ของเทศบาลนครปากเกร็ดที่ปฏิบัติงานด้านการจัดการอุทกภัย ประธานชุมชน พร้อมทั้งสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบข้อมูล ผลการศึกษาพบว่า ความคิดเห็นของหน่วยวิเคราะห์ระดับชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความแตกต่างกันต่อประเด็นความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ กล่าวคือ ประชาชนทั่วไปเห็นว่าการมีส่วนร่วมเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นว่า ความเป็นอิสระในการจัดการตนเองเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นการจัดอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้น การมีส่วนร่วมและความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงช่วยยกระดับความสามารถในการจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐานของเทศบาลนครปากเกร็ดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากความแตกต่างของการจัดการอุทกภัยในปี พ.ศ. 2538 กับปี พ.ศ. 2554 เมื่อเทศบาลนครปากเกร็ดมีอิสระในการจัดการตนเองเพิ่มขึ้นตามที่กฎหมายกำหนดทำให้สามารถระดมทรัพยากรเพื่อเตรียมพร้อมในการป้องกันอุทกภัย และบริหารจัดการได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าท้องถิ่นจะมีข้อจำกัดด้านอัตรากำลังของบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ และปัญหาความล่าช้าในการจัดการภัยพิบัติ แต่ด้วยความร่วมมือทั้งจากชุมชน อาสาสมัคร ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเรียนรู้จากอุทกภัยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ความสามารถของผู้นำ และความเสียสละของประชาชนจึงสามารถวางแผนล่วงหน้าได้อย่างเป็นระบบผ่านนครปากเกร็ดโมเดล ข้อเสนอแนะจากการศึกษา คือ ภาครัฐควรถ่ายโอนทรัพยากรด้านการจัดการอุทกภัยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพซึ่งเป็นต้นแบบในด้านการจัดการภัยพิบัติ นอกจากนี้ ควรพัฒนาข้อมูลสถานการณ์อุทกภัย ระดับน้ำ และระบบการสื่อสาร เพื่อเป็นประโยชน์กับการประสานงานกันของทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเตรียมพร้อมเพื่อรับการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลาง โดยเริ่มจากปรับปรุงโครงสร้างองค์การให้มีความเฉพาะด้าน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในลักษณะของเครือข่าย พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้กับชุมชนท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป