Abstract:
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายและแนวทางในการนำนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบไปปฏิบัติ ปัญหาอุปสรรคในการนำนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบไปปฏิบัติ และปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการนำนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบไปปฏิบัติ โดยการศึกษาครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ การวิจัยเอกสาร และสัมภาษณ์แบบเจาะลึกผู้ที่เกี่ยวข้องกับการนำนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบไปปฏิบัติ จำนวน 16 คน ผลการศึกษาวิจัยพบว่า รัฐบาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2547-2556) กำหนดนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในรูปโครงการต่างๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งนี้ในการนำนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบไปปฏิบัติไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพหลัก รัฐบาลดำเนินการผ่านหน่วยงานชั่วคราวในรูปคณะกรรมการ และศูนย์ประสานงานซึ่งเป็นการผนึกกำลังของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบไปปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน แม้ว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และมีหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่การนำนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบไปปฏิบัติกลับไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้เนื่องมาจากปัญหาต่างๆ ได้แก่ 1) ปัญหาหนี้นอกระบบมีความซับซ้อนและยากต่อการแก้ไข 2) ลักษณะของตัวนโยบายขาดความเหมาะสม 3) ไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพหลัก 4) ผู้ปฏิบัติขาดความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาและขาดความผูกพันต่อนโยบาย 5) ลูกหนี้และเจ้าหนี้ไม่เปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการก่อหนี้ 6) การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ค่านิยมบริโภคนิยม และการใช้นโยบายประชานิยมของรัฐบาล และ 7) ขาดการติดตามประเมินผลนโยบายที่เหมาะสม ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จในการนำนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบไปปฏิบัติ ประกอบด้วย 1) ปัจจัยด้านความสามารถในการจัดการปัญหา 2) ปัจจัยด้านลักษณะของนโยบาย 3) ปัจจัยด้านลักษณะหน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติ 4) ปัจจัยด้านผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ 5) ปัจจัยด้านทัศนคติและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย 6) ปัจจัยด้านสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และ 7) ปัจจัยด้านการติดตามประเมินผลนโยบาย นอกจากนี้ปัจจัยดังกล่าวยังมีความสัมพันธ์ระหว่างกันซึ่งสามารถจัดกลุ่มปัจจัยได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ปัจจัยด้านกระบวนการ และปัจจัยด้านการประเมินผล ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบไปปฏิบัติควรตระหนักถึงความสำคัญและทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการนำนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบไปปฏิบัติอย่างชัดเจน เพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้ในการวิเคราะห์และออกแบบแนวทางที่เหมาะสมต่อการนำนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบไปปฏิบัติให้ประสบผลสำเร็จต่อไป