Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง “การจัดองค์กรพรรคภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร: ศึกษากรณีพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย” ฉบับนี้มีคำถามหลักในการวิจัยว่า 1.พรรคการเมืองภายใต้การนำของพ.ต.ท.ทักษิณมีการจัดองค์กรพรรคแบบใด มีความเป็นประชาธิปไตยในพรรคหรือไม่ หากคำตอบคือไม่ เพราะเหตุใด พรรคภายใต้การนำของพ.ต.ท.ทักษิณจึงไม่มีแรงจูงใจในการจัดโครงสร้างภายในพรรคให้เป็นประชาธิปไตย และเมื่อมีการยุบพรรค-ตั้งพรรคใหม่ องค์กรพรรคถูกจัดหรือเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ 2.การคัดสรรผู้สมัคร การได้มาซึ่งนโยบายพรรค การตัดสินใจเลือกนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์เป็นเป็นนายกรัฐมนตรี และการตัดสินใจเรื่องร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พรรคภายใต้การนำของพ.ต.ท.ทักษิณมีกระบวนการเลือกและตัดสินใจที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ สมมติฐานของการวิจัยคือ 1.พรรคภายใต้การนำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้แก่ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย ไม่ให้ความสำคัญกับการจัดองค์กรให้เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากพรรคใช้รูปแบบบริษัทและพรรคชนชั้นนำ เข้ามาบริหารจัดการพรรค อำนาจการจัดสินใจจึงอยู่ที่เจ้าของพรรค และคณะผู้บริหารเท่านั้น การปรับองค์กรพรรคเป็นผลจากการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมและปัจจัยทางการเมืองภายนอกได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 การประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มต่อต้านอื่นๆ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการยุบพรรค ทำให้ต้องจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้า แทนที่จะวางรากฐานความเป็นประชาธิปไตย 2.ชัยชนะในการเลือกตั้งไม่ได้ขึ้นอยู่กับการจัดองค์กรให้เป็นประชาธิปไตย แต่เพราะการเลือกทรัพยากรบุคคลที่มีความเชียวชาญและมืออาชีพตำรงตำแหน่งสำคัญๆของพรรค เพื่อให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งมากกว่าปัจจัยอื่นๆที่เป็นประชาธิปไตย ผลจากการวิจัยพบว่าองค์กรต่างๆภายในพรรคถูกจัดตั้งตามข้อบังคับพรรค แต่อำนาจการตัดสินใจในกิจกรรมของพรรคกระจุกอยู่ที่พ.ต.ท.ทักษิณ เครือญาติ และกลุ่มแกนนำพรรค ในประเด็นการคัดสรรผู้สมัคร การเลือกนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี และการตัดสินใจเรื่องร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งนี้ องค์กรพรรคมีบทบาทที่สุดในเรื่องการได้มาซึ่งนโยบายพรรค นอกจากนี้ยังพบว่าพรรคทั้ง 3 ขาดความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคทุกมิติที่ศึกษา เว้นแต่การได้มาซึ่งนโยบายที่เปิดช่องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและพรรคยังทำวิจัยในเรื่องนโยบายก่อนจะผลิตเป็นนโยบายโดยเฉพาะพรรคไทยรักไทย ขณะที่พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับประเด็นนี้น้อยลง ชัยชนะในการเลือกตั้งของทั้ง 3 พรรคไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีประชาธิปไตยภายในพรรค แต่กระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายของพรรคไทยรักไทยซึ่งมีรากฐานจากการรับฟังเสียงของประชาชนและผู้เชี่ยวชาญ เป็นเหตุผลสำคัญต่อชัยชนะของพรรค