Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกต่างรุ่นในครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุกับบุตรและศึกษาความสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกต่างรุ่นในครอบครัวกับความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุรวมทั้งเปรียบเทียบความสัมพันธ์ดังกล่าวระหว่างผู้สูงอายุตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน กับผู้สูงอายุไทยในชนบท แบบแผนการวิจัยเป็นแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพข้อมูลเชิงปริมาณที่ใช้ มาจากข้อมูลทุติยภูมิจากโครงการสร้างระบบฐานข้อมูลและเตรียมการเพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนตำบลไหล่น่านอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ปีพ.ศ. 2553 ที่ได้รับการอนุเคราะห์จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์และคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและข้อมูลทุติยภูมิการสำรวจประชากรผู้สูงอายุไทยปีพ.ศ.2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ วิเคราะห์ข้อมูลและเปรียบเทียบผลการศึกษาด้วยสถิติการถดถอยโลจิสติคแบบเรียงลำดับขั้น ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพใช้วิธีการสนทนากลุ่ม ผลการศึกษาพบว่า การแลกเปลี่ยนทั้งด้านเศรษฐกิจและการช่วยเหลือระหว่างผู้สูงอายุกับบุตรยังมีลักษณะต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน โดยผู้สูงอายุทำการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจกับบุตรใน 4 รูปแบบได้แก่1) ให้เงินแก่บุตรที่อยู่ในครัวเรือนเดียวกัน 2) ให้เงินแก่บุตรที่อยู่ที่อื่น 3) รับเงินจากบุตรที่อยู่ในครัวเรือนเดียวกัน 4) รับเงินจากบุตรที่อยู่ที่อื่น ผลการศึกษาพบว่า หลังจากควบคุมอิทธิพลของปัจจัยด้านประชากรเศรษฐกิจและสังคมและปัจจัยความเป็นปึกแผ่นระหว่างสมาชิกต่างรุ่นในครอบครัวแล้ว การให้เงินแก่บุตรที่อยู่ที่อื่นมีความสัมพันธ์เชิงลบกับความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุในตำบลไหล่น่าน แต่สำหรับผู้สูงอายุในชนบท การรับเงินจากบุตรที่อยู่ในครัวเรือนเดียวกันและอยู่ที่อื่นมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความอยู่ดีมีสุข และการให้เงินแก่บุตรที่อยู่ในครัวเรือนเดียวกันมีความสัมพันธ์เชิงลบกับความอยู่ดีมีสุข สำหรับการแลกเปลี่ยนด้านการช่วยเหลือ ผลการศึกษาพบว่า การรับการปรนนิบัติดูแลกิจวัตรประจำวันจากบุตรมีความสัมพันธ์เชิงลบกับความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุทั้งในตำบลใหล่น่านและชนบท ส่วนการดูแลหลานมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุในตำบลไหล่น่านเท่านั้น และการอยู่ร่วมครัวเรือนเดียวกันมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุทั้งในตำบลไหล่น่านและชนบท การศึกษาครั้งนี้ สามารถนำไปใช้วางแผนและจัดนำนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความอยู่ดีมีสุขด้วยการเตรียมตัวทั้งด้านการเงินและการช่วยเหลือระหว่างกัน ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขที่ดี