Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อระบุปัจจัยที่อาจมีผลต่อความแม่นยำในการทำนายวันคลอด โดยใช้สูตรทำนายจากการวัดขนาดกะโหลกลูกสุนัขด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงในสุนัขสายพันธุ์เล็ก (น้ำหนักต่ำกว่า 11 กิโลกรัม) ของ Luvoni and Grioni (2000) ทำการศึกษาในสุนัข 95 ตัว ประกอบด้วย 9 สายพันธุ์ จากการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง 138 ครั้ง เพื่อประเมินปัจจัยทางด้านสรีรวิทยา ได้แก่ อายุแม่สุนัข น้ำหนักตัวแม่สุนัขในช่วงปกติ จำนวนลูกต่อครอก และอายุการตั้งท้องในขณะที่ทำการตรวจ รวมถึงปัจจัยทางเทคนิคในการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ได้แก่ ความสามารถในการวัดซ้ำในตัวผู้ตรวจคนเดียวกัน 2 ครั้ง ความสามารถในการวัดซ้ำระหว่างผู้ตรวจ 2 คน และจำนวนลูกที่ทำการวัด (1 ตัว หรือ มากกว่า 1 ตัว) ผลการศึกษาพบความคลาดเคลื่อนในการทำนายวันคลอดเพียงเล็กน้อย (1.22±1.37 วัน) และมีเพียงปัจจัยจากอายุเท่านั้นที่มีผลต่อจำนวนวันที่คลาดเคลื่อนในการทำนายวันคลอด (r=0.225 และ p=0.008) ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากการวิเคราะห์ความสามารถในการวัดซ้ำในตัวผู้ตรวจคนเดียวกัน 2 ครั้ง (p=0.542) ความสามารถในการวัดซ้ำระหว่างผู้ตรวจ 2 คน (p=0.591) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการตรวจวัดขนาดกะโหลกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงมีความเชื่อถือได้สูง รวมถึงจำนวนลูกที่ทำการวัดก็ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน (p=0.521) จากการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ เพื่อหาสมการทำนายวันคลอดจากความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆกับจำนวนวันก่อนคลอด พบว่ามี 3 ปัจจัย ที่มีผลต่อจำนวนวันก่อนคลอด ได้แก่ ขนาดกะโหลกลูกสุนัข (p<0.0001) น้ำหนักแม่สุนัขในช่วงปกติ (p<0.0006) และอายุการตั้งท้องในขณะที่ทำการตรวจ (p<0.0001) ถึงแม้ว่าการวัดขนาดกะโหลกลูกสุนัขเพื่อทำนายวันคลอดมีความน่าเชื่อถือสูงและสูตรคำนวณของ Luvoni and Grioni (2000) ที่ใช้ในการศึกษานี้สามารถใช้ทำนายวันคลอดได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจัยด้านอายุของแม่สุนัขก็มีผลต่อความคลาดเคลื่อนในการทำนายจากสูตรดังกล่าว