Abstract:
การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเสริมสารเสริมชีวนะ (Bacillus subtilis และ Bacillus licheniformis) ต่อสมรรถภาพการเจริญเติบโต การย่อยได้ของสารอาหาร จำนวนจุลชีพในไส้ตันและ สัณฐานวิทยาของลำไส้เล็กในไก่เนื้อ โดยทำการศึกษาในไก่เนื้อเพศเมียพันธุ์ Ross 308 อายุ 1 วันจำนวน 288 ตัว ทำการสุ่มไก่ออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 6 ซ้ำๆ ละ 12 ตัว โดยเลี้ยงในโรงเรือนเปิด ภายในสภาพแวดล้อมเดียวกันจนถึงอายุ 42 วันและใช้แผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (Completely Randomized Design; CRD) อาหารที่ใช้ในการทดลองมีทั้งหมด 4 สูตร คือ 1) อาหารควบคุม 2) อาหารควบคุมเสริมด้วยยาปฏิชีวนะ Amoxycillin 200 พีพีเอ็ม (ppm) 3) อาหารควบคุมเสริมด้วย Bacillus subtilis และ Bacillus licheniformis 2.5 x 107โคโลนีต่อกิโลกรัม (CFU/kg) อาหาร และ 4) อาหารควบคุมเสริมด้วย Bacillus subtilis และ Bacillus licheniformis 5 x 107โคโลนีต่อกิโลกรัม (CFU/kg) อาหาร ทำการเก็บลำไส้เล็กส่วนเจจูนัมเพื่อวัดค่าสัณฐานวิทยา รวมถึงพารามิเตอร์อื่นๆ ได้แก่ สมรรถภาพการเจริญเติบโต สัมประสิทธิ์การย่อยได้บริเวณลำไส้เล็กส่วนปลาย จำนวนจุลินทรีย์ในไส้ตันและ ค่า pH ในลำไส้เล็กส่วนเจจูนัม โดยทำการเก็บข้อมูลรวมทั้งหมด 2 ช่วงเวลาได้แก่ ช่วงวันที่ 21 และ 42 ของการทดลอง ผลการศึกษาเมื่อสิ้นสุดการทดลองที่ 42 วันพบว่า อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อวันและ อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักตัวของไก่กลุ่มที่ได้รับยาปฏิชีวนะ Amoxycillin และกลุ่มที่ได้รับการเสริมชีวนะ Bacillus subtilis และ Bacillus licheniformis ทั้งสองกลุ่ม ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P <0.05) แต่ค่าปริมาณอาหารที่กินเฉลี่ยต่อวันไม่มีความแตกต่างกัน (P>0.05) การย่อยได้บริเวณลำไส้เล็กส่วนปลาย พบว่าในวันที่ 42 ของการทดลองกลุ่มที่ได้รับสารเสริมชีวนะที่ระดับ 5 x 107โคโลนีต่อกิโลกรัม (CFU/kg) อาหารมีค่าการย่อยได้ของน้ำหนักวัตถุแห้ง และโปรตีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P <0.05) ในขณะที่ค่าการย่อยได้ของไขมันพบว่าทุกกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน ในวันที่ 21 ของการทดลอง ไก่กลุ่มที่ได้รับสารเสริมชีวนะทั้งสองระดับมีจำนวนเชื้อ Lactic acid bacteria และค่า Lactobacillus : E. coli ratio เพิ่มขึ้น (P <0.05) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนวันที่ 42 ของการทดลอง ไก่ที่ได้รับสารเสริมชีวนะที่ระดับ 5 x 107 โคโลนีต่อกิโลกรัม (CFU/kg) อาหาร มีจำนวนเชื้อ Bacillus spp., Lactic acid bacteria และค่า Lactobacillus : E. coli ratio เพิ่มขึ้น (P <0.05) และมีประชากร E. coli ลดลง (P< 0.05) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตามไม่มีการตรวจพบเชื้อ Salmonella spp. ในทุกกลุ่มการทดลอง ผลค่าสัณฐานวิทยาในลำไส้ พบว่าในวันที่ 21 และ 42 ของการทดลองสารเสริมชีวนะ Bacillus subtilis และ Bacillus licheniformis ทั้งสองระดับมีความสูงของวิลไลเพิ่มขึ้น (P <0.05) นอกจากนี้อัตราส่วนของวิลไลต่อคริปท์ในกลุ่มที่เสริม Bacillus subtilis และ Bacillus licheniformis ที่ระดับ 5 x 107โคโลนีต่อกิโลกรัม (CFU/kg) อาหารดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (P <0.05) ส่วนค่า pH ในลำไส้พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันในทุกกลุ่มการทดลอง (P>0.05) ผลการทดลองสรุปได้ว่า การเสริม Bacillus subtilis และ Bacillus licheniformis ที่ระดับ 5 x 107โคโลนีต่อกิโลกรัม (CFU/kg) อาหาร สามารถปรับปรุงความสมดุลของจุลินทรีย์ในไส้ตัน สัณฐานวิทยาในลำไส้เล็ก และการย่อยได้บริเวณลำไส้เล็กส่วนปลาย อย่างไรก็ดีการเสริมสารเสริมชีวนะทั้งสองระดับสามารถเพิ่มสมรรถภาพการเจริญเติบโตในไก่เนื้อได้ไม่แตกต่างกัน