Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งอธิบายปรากฏการณ์ความแพร่หลายของการเจรจาความตกลงการค้าเสรีในช่วงทศวรรษ 2000 ผ่านกรอบการอธิบายของ Vinod K. Aggarwal และ Seungjoo Lee ที่เน้นวิเคราะห์ปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วยปัจจัยภายในสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับองค์ความคิดและการรับรู้ของผู้กำหนดนโยบายต่อนโยบายการค้าต่างประเทศ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการปรับมุมมองของกลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเมืองภายในประเทศ มาปรับใช้อธิบายกรณีของไทย จากการศึกษาพบว่าการดำเนินนโยบายความตกลงการค้าเสรีสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงองค์ความคิดและการรับรู้ต่อนโยบายการค้าต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีและคณะที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจ ทำให้สามารถใช้นโยบายความตกลงการค้าเสรีเพื่อส่งเสริมการส่งออกของกลุ่ม SMEs สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก และใช้สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้ว่านโยบายจะถูกการคัดค้านจากกลุ่มที่เสียประโยชน์และภาคประชาสังคมก็ตาม รัฐบาลก็ได้มีการการปรับมุมมองของผลประโยชน์ที่ได้รับจากความตกลงการค้าเสรี เพื่อสร้างการยอมรับจากกลุ่มธุรกิจและเกษตรกร โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สามารถผลักดันนโยบายได้ สืบเนื่องจากระบวนการกำหนดนโยบายที่ขึ้นตรงต่อคณะรัฐมนตรี ผนวกกับการมีเครือข่ายเศรษฐกิจการเมืองหลังวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 ที่เข้มแข็ง ทำให้นายกรัฐมนตรีสามารถกำกับทิศทางการดำเนินนโยบายการค้าต่างประเทศ และใช้ความตกลงการค้าเสรีเป็นนโยบายการค้าต่างประเทศหลักในสมัยนี้