Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาแบบแผนการแสดงของตัวละครนางเอก ชื่อสาวเครือฟ้า ในละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้า ตามรูปแบบที่ได้รับถ่ายทอดของวิทยาลัยนาฏศิลป รวมทั้งศึกษาเกี่ยวกับ ประวัติและองค์ประกอบการแสดง โดยศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ การสังเกต การแสดงบนเวที วีดีทัศน์ ภาพถ่าย และประสบการณ์ตรงของผู้วิจัยที่แสดงละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้า ผลการวิจัยพบว่า ละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้าเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ จัดแสดงครั้งแรก ในงานวันตรุษสงกรานต์ ณ พระราชวังสวนดุสิต จากนั้นได้จัดแสดงที่โรงละครปรีดาลัย สาวเครือฟ้าเป็นละครที่นิยมมากในขณะนั้น ต่อมาได้เข้าสู่วิทยาลัยนาฏศิลป โดยการนำของคุณครูเฉลย ศุขะวณิชและคุณครูลมุล ยมะคุปต์ จัดแสดงที่โรงละครแห่งชาติเมื่อปีพ.ศ.2522 จนถึงปัจจุบันมีผู้สืบทอดเพียง 4 รุ่นเท่านั้น แบบแผนการแสดงของตัวนางเอก ชื่อสาวเครือฟ้า มีประการสำคัญ 8 ประการ ได้แก่ 1. ผู้แสดงร้อง รำ เจรจาด้วยตนเอง มีลูกคู่ร้องรับ ส่ง และแทรกในบางช่วง 2. การรำที่ใช้ในละคร ประกอบด้วยการรำ 2 ลักษณะ คือ การรำเดี่ยวและรำคู่ 3. การใช้กระบวนท่ารำ มี 4 ลักษณะ คือ รำตีบท รำประกอบทำนองเพลง การใช้บทประกอบการเจรจา และการเจรจาล้วนๆโดยไม่มีท่าทาง 4. กระบวนท่าเลียนแบบธรรมชาติของมนุษย์ โดยมีการปรุงแต่งท่าทางธรรมชาติให้มีความเหมาะสม ประณีต และสมจริงมากขึ้น 5. กระบวนท่าแบบละคร มีสอดแทรกอยู่ในช่วงการอาบน้ำแต่งตัว ซึ่งเป็นจารีตของการแสดงละครไทยมาแต่โบราณ 6. การร้องเพลง เน้นทำนองเพลงไทยเดิมสำเนียงภาคกลางและภาคเหนือ รวมทั้งสอดคล้องกับจังหวะช้า-เร็วสลับกันเพื่อสื่อถึงอารมณ์ของตัวละครอย่างชัดเจน 7. ภาษาที่ใช้ร้อง เจรจาเป็นภาษาไทยภาคกลาง ภาคเหนือ ภาษาลาว และภาษาอังกฤษ 8. การใช้อารมณ์ในการดำเนินเรื่อง เน้นอารมณ์ที่หลากหลายตามธรรมชาติของมนุษย์ และอารมณ์ตามแบบแผนของละครรำ ส่วนเครื่องแต่งกาย แต่งทั้งภาคกลางและภาคเหนือ มี 2 รูปแบบคือ รูปแบบจากการแต่งกายในชีวิตประจำวันของมนุษย์และรูปแบบนาฏยศิลป์ไทย ละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้าเป็นละครสมัยใหม่ที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการทางด้านการละครหลายๆประเภท สะท้อนถึงการให้ความสำคัญของการละครไทย ควรค่าแก่การอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืนสืบไป