Abstract:
วัฒนธรรมในระบบภาษีของไทยเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งซึ่งส่งผลให้รัฐไทยจัดเก็บภาษีได้น้อย ไม่เพียงพอสำหรับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะได้อย่างยั่งยืน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาและอธิบายลักษณะของแบบแผนวัฒนธรรมในระบบภาษีของไทยสองระบบ คือ ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและระบบภาษีเงินได้นิติบุคคล ตลอดจนเสนอแนะแนวทางเชิงนโยบายในการพัฒนาวิธีการจัดเก็บภาษี และเครื่องมือที่ใช้ในการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้วิจัยสำรวจพฤติกรรมและทัศนคติของผู้เสียภาษีจำนวนทั้งสิ้น 400 รายซึ่งยื่นแบบแสดงรายการภาษี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่จากเขตภาษี 15 เขตในทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย และสัมภาษณ์ผู้จัดเก็บภาษีในสำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตภาษีดังกล่าวเขตละ 3 คน คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 45 คน ระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ.2555 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ.2556 ผลการศึกษาพบว่าแบบแผนวัฒนธรรมในระบบภาษีของไทยคือการยินยอมเสียภาษีด้วยความจำเป็น ในภาพรวมยังมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์หรือเป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพอยู่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมของผู้เสียภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องและขอหักลดหย่อนอย่างเต็มที่ ตลอดจนการมีทัศนคติไม่ไว้วางใจในการทำงานของรัฐบาลและข้าราชการซึ่งมีมากกว่าครึ่ง ในขณะที่ผู้จัดเก็บภาษีมีท่าทีไม่จูงใจผู้เสียภาษีให้ยินยอมเสียภาษีอยู่มากโดยเฉพาะการเฝ้าระวังติดตามผู้เสียภาษีอย่างจ้องจับผิด และยังมีอคติต่อผู้เสียภาษีอีกด้วย