Abstract:
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทยซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2538 เป็นเครือข่ายได้รับการยอมรับจากสังคมว่า เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะการประสานพลังกับกลุ่มต่างๆ และการทำงานร่วมกันของตัวผู้ติดเชื้อ การผลักดันขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิในการเข้าถึงยาและการรักษาด้วยยาต้านไวรัส การพัฒนานโยบายสุขภาพและบริการสาธารณสุขที่อยู่บนฐานการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันนโยบายด้านการปฏิรูปการเมืองและสังคม ผ่านรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ขบวนการเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทยในบริบทการเมืองไทยในแต่ละช่วงเวลา และวิเคราะห์ปฏิบัติการเคลื่อนไหวของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ เพื่อประเมินยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของขบวนการ และผลลัพธ์ในเชิงนโยบายและการผลักดัน รวมถึงผลสะเทือนจากปฏิบัติการของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กับการเสริมสร้างจรรโลงประชาธิปไตย ผ่านการใช้ 4 กรอบแนวคิดหลัก ได้แก่แนวคิดเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แนวคิดว่าด้วยนโยบายสาธารณะ แนวคิดเกี่ยวกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และแนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่ทางการเมือง โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ทั้งจากข้อมูลเอกสาร และการวิจัยภาคสนาม โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่มย่อยและการสังเกตุการณ์แบบมีส่วนร่วม และไม่มีส่วนร่วม ใน4 ภูมิภาค คือ กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ และมีระยะเวลาศึกษาตั้งแต่พ.ศ. 2538 ถึง พ.ศ. 2557 ผลการศึกษาพบว่า เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มสมาชิกผู้ติดเชื้อในทุกภูมิภาคของประเทศ และกลุ่มพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกันทั้งในภาพรวม และในประเด็นเฉพาะ ปฏิบัติการเคลื่อนไหวของเครือข่ายมีจุดเด่นที่สำคัญ คือ การเคลื่อนไหวมีพลวัตที่นำไปสู่การเป็นกระบวนการทางนโยบาย (policy process) ในการจัดการกับปัญหา ตั้งแต่การก่อตั้งเครือข่าย และการต่อสู้กับนโยบายแบบแนวระบาดวิทยาในยุคแรก การเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของพวกตนจากรัฐในยุคที่สอง และการผลักดันนโยบายหรือกฎหมายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของขบวนการ ตลอดจนการเข้าไปร่วมสร้างและใช้พื้นที่ในเชิงนโยบายในยุคที่สาม จนได้ก้าวข้ามประเด็นเอชไอวีไปสู่การเคลื่อนไหวในประเด็นโครงสร้างระบบสาธารณสุขของไทยในยุคที่สี่ ซึ่งเป็นการขยายฐานอุดมการณ์ร่วมของขบวนการและสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ผลสะเทือนจากการเคลื่อนไหวของเครือข่ายสามารถพบได้ในหลายระดับ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นสำคัญ คือ ผลสะเทือนต่อกระบวนการนโยบาย ผลสะเทือนต่อการขยายพื้นที่ในมิติสัมพันธภาพเชิงอำนาจ ผลสะเทือนต่อการสร้างพื้นที่ภายในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และ ผลสะเทือนต่อการจรรโลงและเสริมสร้างประชาธิปไตย