Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ของความน่าเชื่อถือของงบการเงินและทัศนคติต่อความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อที่มีต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับต้นทุนการกู้ยืมผ่านพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลทางการเงินของบริษัทผู้ขอสินเชื่อ โดยเป็นการวิจัยเชิงทดลองด้วยแผนทดลองแบบ 3x3 สปลิทพล๊อท (Split Plot Design) - ระหว่างหน่วยทดลอง โดยปัจจัยหลัก คือ ทัศนคติต่อความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ 3 ระดับ ได้แก่ รักหรือชอบความเสี่ยง เป็นกลางต่อความเสี่ยง และรังเกียจหรือไม่ชอบความเสี่ยง ปัจจัยรอง คือ ประเภทของรายงานผู้สอบบัญชี 3 ประเภท ได้แก่ ความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข ความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไขแต่เพิ่มวรรคเน้นข้อมูลและเหตุการณ์ และความเห็นอย่างมีเงื่อนไข ส่วนการศึกษาพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลแบ่งเป็น 2 มิติ ได้แก่ ลำดับข้อมูลที่ค้นหาและความเร็วในการค้นหาข้อมูล หน่วยทดลองจำนวน 75 คน เป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อที่ปฏิบัติงานในการอนุมัติสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดกลางในธนาคารพาณิชย์ไทยจำนวน 3 แห่ง แต่เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อที่เป็นกลุ่มที่รักหรือชอบความเสี่ยงเพียง 2 คน จึงปรับเป็นรูปแบบการทดลอง 2x3 สปลิทพล๊อท จากหน่วยทดลองทั้งสิ้น 73 คน ผลการศึกษาไม่พบความแตกต่างของต้นทุนการกู้ยืมระหว่างประเภทรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั้ง 3 ประเภท แต่เมื่อแบ่งประเภทรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตใหม่เป็น 2 กลุ่ม ตามความเข้าใจของเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแบบ “ความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข” ได้ให้อัตราดอกเบี้ยส่วนเพิ่มในอัตราที่ต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับรายงานแบบอื่น นั่นคือ แบบ“ความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไขแต่เพิ่มวรรคเน้นข้อมูลและเหตุการณ์ กับ ความเห็นอย่างมีเงื่อนไข” ผลวิจัยแนะว่าเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่ออาจมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องว่าความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไขแต่มีการเพิ่มวรรคเน้นข้อมูลและเหตุการณ์เป็นความเห็นไม่ปกติเช่นเดียวกับความเห็นอย่างมีเงื่อนไข นอกจากนั้นผลการศึกษายังพบว่าทัศนคติต่อความเสี่ยงมีผลกระทบทางตรงต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ โดยกลุ่มตัวอย่างที่รังเกียจหรือไม่ชอบความเสี่ยงมีการตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ยส่วนเพิ่มในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มที่เป็นกลางต่อความเสี่ยง แต่จากการวิเคราะห์ไม่พบผลกระทบร่วมของ 2 ปัจจัยแต่อย่างใด ในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการค้นหาข้อมูล ได้ตัดหน่วยทดลองที่มีค่าผิดปกติออก 2 คน คงเหลือหน่วยทดลองในการวิเคราะห์ จำนวน 70 คน ผลการศึกษาพบเพียง“จำนวนครั้งของการพิจารณา” ในมิติของลำดับของข้อมูลที่ค้นหาเท่านั้นที่มีผลกระทบทางตรงต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ ส่วนผลกระทบทางอ้อมของความน่าเชื่อถือของงบการเงิน (ตามความเข้าใจของเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ) ผ่านพฤติกรรมการค้นหาข้อมูล พบว่ามีผลกระทบทางอ้อมต่อการตัดสินใจผ่านตัวแปร “จำนวนครั้งของการพิจารณา” ในขณะที่การวิเคราะห์ผลกระทบทางอ้อมของทัศนคติต่อความเสี่ยงผ่านพฤติกรรมการค้นหาข้อมูล ไม่พบว่าทัศนคติต่อความเสี่ยงมีผลกระทบทางอ้อมต่อการตัดสินใจแต่อย่างใด การศึกษานี้เป็นงานแรกของประเทศไทยที่ศึกษาถึงพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลของเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มผู้ใช้งบการเงินหลักที่สำคัญด้วย