Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์บทบาทของเรื่องเล่าและสภาวะพลัดถิ่นในวรรณกรรมหลังยุคสงครามเย็นของนักเขียนเวียดนาม กัมพูชา และม้ง-ลาว โดยศึกษาวรรณกรรมของนักเขียนทั้ง 3 กลุ่ม ๆ ละ 3 เรื่อง และศึกษาบริบททางสังคม วัฒนธรรมและการเมืองในหลังยุคดังกล่าวที่ส่งผลต่อการพลัดถิ่นของกลุ่มคนเวียดนาม กัมพูชาและม้ง-ลาว จากการศึกษาพบว่า วรรณกรรมมีบทบาทสำคัญในการให้ความหมายใหม่กับประสบการณ์พลัดถิ่นอย่างหลากหลาย โดยสัมพันธ์กับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของผู้เขียน วรรณกรรมของนักเขียนทั้ง 3 กลุ่ม นำเสนอให้เห็นรูปแบบประสบการณ์พลัดถิ่นอันเป็นผลมาจากการสูญเสียตัวตนและการสูญเสียพ่อแม่พี่น้องจากประสบการณ์สงคราม รวมถึงการตกอยู่ในพื้นที่ในระหว่าง 2 วัฒนธรรม และยังเผยให้เห็นความสำคัญของเรื่องเล่าครอบครัวที่เป็นเครื่องมือผูกร้อยเรื่องราว ซึ่งช่วยสะท้อนความหมายของบ้านที่เลื่อนไหลปรับเปลี่ยนไปตามบริบท โดยบ้านในวรรณกรรมของนักเขียนเวียดนามสื่อความหมายถึงชาติและวัฒนธรรมบรรพบุรุษ บ้านในวรรณกรรมของนักเขียนกัมพูชาหมายถึงครอบครัว ส่วนบ้านในวรรณกรรมของนักเขียนม้ง-ลาวสื่อความถึงชุมชนและวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับความเป็นชาติพันธุ์ วรรณกรรมทั้ง 3 กลุ่ม ยังมีบทบาทสำคัญในการทำความเข้าใจอัตลักษณ์ วรรณกรรมของนักเขียนเวียดนามที่ผลิตขึ้นในเวียดนามสะท้อนจิตสำนึกที่ผูกอยู่กับอุดมการณ์ชาติซึ่งขัดแย้งกับความเป็นปัจเจก ส่วนวรรณกรรมของนักเขียนเวียดนามที่ผลิตในพื้นที่พลัดถิ่นสะท้อนการสร้างจิตสำนึกจากการรื้อฟื้นวัฒนธรรมของบรรพบุรษและประวัติศาสตร์ชาติ วรรณกรรมของนักเขียนกัมพูชาสะท้อนการสร้างอัตลักษณ์จากความทรงจำบาดแผล และใช้เรื่องเล่าเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องความเป็นธรรม ส่วนวรรณกรรมของนักเขียนม้ง-ลาวพลัดถิ่นสะท้อนการสร้างอัตลักษณ์จากการรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับ “บ้าน” และการอ่านวัฒนธรรมของม้งและอเมริกาเพื่อก่อรูปอัตลักษณ์ม้ง-อเมริกันขึ้นในบริบทพลัดถิ่น วรรณกรรมของนักเขียนทั้ง 3 กลุ่ม เขียนขึ้นในบริบทของผู้มีความทรงจำบาดแผลจากผลกระทบของสงครามเย็น จากการศึกษายังพบว่า การถ่ายทอดความทรงจำบาดแผลในเรื่องเล่าความทรงจำบาดแผลต่างจากการถ่ายทอดความทรงจำในงานเขียนทั่วไป โดยเรื่องเล่าความทรงจำบาดแผลต้องใช้การผสมผสานรูปแบบงานเขียน การเขียนแบบไร้โครงเรื่องไร้การลำดับเวลา การเชื่อมโยงประสบการณ์เพื่อเล่าเรื่อง การเขียนในลักษณะแบ่งปันประสบการณ์และสร้างสำนึกร่วม และการใช้ภาษาที่พูดออกมาไม่ได้โดยตรง เช่น การใช้ภาษาภาพพจน์ สำนวนโวหาร เสียงและความเงียบ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความทรงจำบาดแผลได้