Abstract:
จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและนักท่องเที่ยว ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในจังหวัดน่านทำให้เกิดการลดลงของ ทรัพยากรปลา จึงมีการจัดการประมงโดยชุมชนขึ้น แต่ยังขาดการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาโดยชุมชน ที่มีวิธีการอนุรักษ์แตกต่างกัน และยังขาดการรวบรวมข้อมูลปลาเพื่อใช้ประโยชน์ด้านการอนุรักษ์ในระยะยาว ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหลากชนิดของปลา บริเวณเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาโดยชุมชนที่มีรูปแบบแตกต่างกันและสร้างฐานข้อมูล เชิงพื้นที่ของปลาในจังหวัดน่าน วิธีการศึกษาแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือการศึกษาความหลากชนิดในภาคสนามซึ่งทำโดยเก็บตัวอย่างปลารวม 7 สถานี ในเดือนมีนาคม กรกฎาคม และพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 และการศึกษาในห้องปฏิบัติการซึ่งทำโดยการรวบรวมข้อมูลชนิดปลาและสถานที่ ศึกษาจากงานวิจัยก่อนหน้าเพื่อปรับปรุงรายชื่อและสถานภาพการอนุรักษ์ แล้วสร้างฐานข้อมูลเชิงพื้นที่และแผนภาพการกระจายพันธุ์ของปลา ผลการศึกษาด้านความหลากชนิดในพื้นที่ศึกษาทั้ง 7 สถานี พบปลาทั้งสิ้น 6 อันดับ 19 วงศ์ 47 สกุล 52 ชนิด และไม่สามารถจัดจำแนกได้ 1 ชนิด บริเวณเขตห้ามจับปลาโดยเด็ดขาดซึ่งอยู่ตอนกลางของบ้านน้ำพระทัย และบ้านหาดไร่ พบปลา 53 และ 49 ชนิด ในจำนวนนั้นเป็นปลาชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น 4 ชนิด และปลาใกล้ถูกคุกคาม 4 ชนิด ดังนั้นเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาแบบห้ามจับปลาเด็ดขาดจึงน่าจะเป็นวิธีการที่ เหมาะสมที่สุดในการอนุรักษ์พันธุ์ปลา การปรับปรุงรายชื่อปลา พบการเปลี่ยนแปลงอันดับ 1 กรณี เปลี่ยนแปลงวงศ์ 3 กรณี ใช้ชื่อพ้องแรก 25 ชื่อ ใช้ชื่อพ้องที่สอง 2 ชื่อ ใช้ชื่อพ้องและสะกดผิด 2 ชื่อ ใช้ชื่อที่สะกดผิด 12 ชื่อ และใช้ชื่อที่ไม่ได้รับการยอมรับ 4 ชื่อ สรุปได้ว่าพบปลาในจังหวัดน่านทั้งสิ้น 10 อันดับ 30 วงศ์ 81 สกุล 121 ชนิด และไม่สามารถจัดจำแนกได้ 5 ชนิด ในส่วนของฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ ประกอบด้วยรายชื่อปลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 – 2557 จากแม่น้ำ 11 สาย และน้ำตก 1 แห่ง รวม 107 สถานี ข้อค้นพบที่สำคัญจากการสร้างแผนภาพการแพร่กระจายคือพบปลาชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น 18 ชนิด และชนิดพันธุ์ต่างถิ่น 8 ชนิด แพร่กระจายพันธุ์อยู่ในแม่น้ำสายต่าง ๆ ทั่วจังหวัดน่าน ผลการศึกษานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อวางแผนการจัดการอนุรักษ์พันธุ์ปลาโดยชุมชนและการอนุรักษ์พันธุ์ปลาระดับจังหวัด เช่น การหามาตรกรการประกาศเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา (แบบห้ามจับปลาโดยเด็ดขาด) เพิ่มเติมโดยการมีส่วนร่วมและการเร่งศึกษาการกระจายและผลกระทบของชนิดพันธุ์ ต่างถิ่นในแม่น้ำบางสายโดยใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลเชิงพื้นที่