Abstract:
ที่มาและความสำคัญ : มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอับดับสองของมะเร็งในผู้หญิง ในปี ค.ศ. 2012 มีรายงานผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณ 528,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 266,000 รายทั่วโลก ทั้งนี้ มีหญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกถึง 14 รายต่อวัน การรักษาจะใช้วิธีการผ่าตัดก้อนเนื้อร้ายออก รังสีรักษา เคมีบำบัด การใช้ยาที่จำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง หรือวิธีการเหล่านี้รวมกัน โดยขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งและระยะของโรค วิธีการเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง และมีผลข้างเคียงมาก จึงได้มีการคิดค้นนำพืชสมุนไพรมาร่วมในการรักษา โดยจะมุ่งเน้นให้มีการลดผลข้างเคียง และลดค่าใช้จ่ายลง นอกจากนี้ อาจใช้พืชสมุนไพรเพื่อการป้องกันมะเร็งชนิดนี้ การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ฤทธิ์ในการต้านมะเร็งปากมดลูกของสารสกัดพลูคาว ซึ่งเป็นพืชที่พบมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในภาคเหนือของประเทศไทย วิธีการ : นำลำต้นก้านและใบพลูคาวมาล้างน้ำและอบแห้ง จากนั้นนำไปสกัดด้วยวิธี Soxhlet โดยใช้ตัวทำละลายสามชนิดที่แตกต่างกัน แล้วนำไประเหยตัวทำละลายออกได้สารสกัดหยาบออกมา เก็บไว้ที่ -20 องศาเซลเซียสจนกระทั่งทำการทดสอบ โดยทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดต่อเซลล์มะเร็งปากมดลูกมนุษย์ชนิด SiHa ด้วยเทคนิค MTT assay ฤทธิ์ของสารสกัดในการยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งด้วยเทคนิค Wound healing assay และการวัดปริมาณเอนไซม์ MMP2 ด้วยเทคนิค ELISA รวมทั้งวิเคราะห์รูปแบบการชักนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งปากมดลูกด้วยเทคนิค Flow cytometry การย้อมสี acridine orange และ Western blot ผลการทดลอง : พบว่าสารสกัดพลูคาวในส่วนตัวทำละลาย Dichloromethane (DC) ที่ความเข้มข้น 1, 2, 4, 6,8, 10 µg/mL และ Absolute Ethanol (ET) ที่ความเข้มข้น 2, 4, 6,8, 10 µg/mL เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งปากมดลูก SiHa อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95% อีกทั้ง ระดับความเป็นพิษนั้น ขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นของสารสกัดพลูคาว และจากผลการทดลองด้วย Flow cytometry พบว่า การตายนั้น มีสาเหตุจากความเป็นกรดของไลโซโซม ซึ่งเป็นกระบวนการเกี่ยวข้องกับออโตฟาจี จากการติดสีย้อม acridine orange และทดสอบยืนยันโปรตีน LC3 ด้วยเทคนิค Western blot สำหรับฤทธิ์ต้านการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งนั้น พบว่า สารสกัดพลูคาวไม่มีฤทธิ์ต้านการลุกลามของเซลล์มะเร็งปากมดลูก เนื่องจากไม่มีการลดลงของระดับเอนไซม์ MMP-2 และพบว่าสารสกัดพลูคาวในส่วนตัวทำละลาย ET ที่ความเข้มข้น 0.25 µg/mL สามารถยับยั้งการเคลื่อนที่ของเซลล์มะเร็งได้ 0.08% ที่ 24 ชั่วโมง และ 0.18% ที่ 48 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับ Control ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% สรุปผลการทดลอง : การทดลองครั้งนี้เป็นการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดสมุนไพรพลูคาวในการต้านมะเร็งปากมดลูก โดยสารสกัดพลูคาวในส่วนตัวทำละลาย DC และ ET มีฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งปากมดลูกมนุษย์ด้วยการตายของเซลล์มะเร็งนั้น มีสาเหตุจากความเป็นกรดของไลโซโซม ซึ่งเป็นกระบวนการเกี่ยวข้องกับออโตฟาจี สารสกัดพลูคาวจากทุกตัวทำละลาย ไม่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็งอย่างมีนัยสำคัญ แต่สารสกัดพลูคาวในส่วนตัวทำละลาย ET ที่ความเข้มข้น 0.25 µg/mL สามารถยับยั้งการเคลื่อนที่ของเซลล์มะเร็งได้ที่ 24 และ 48 ชั่วโมง ดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อที่จะพัฒนาต่อยอดสารสกัดพลูคาว สำหรับการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกในอนาคต