Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาโดยวิธีการวิจัยเอกสารและการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้เทคนิคการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากเครือข่ายการป้องกันอาชญากรรมบนอินเตอร์เน็ตทั้ง 4 เพจ ได้แก่ เพจตามล่าไอ้โอม เพจตามจับชุติมา เรืองทิพย์ เพจตามล่าไอ้ปิ้ง และเพจตามหาคนร้าย จำนวน 3 ส่วน ได้แก่ ผู้จัดตั้งและผู้ดูแลเพจ สมาชิกเพจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะและรูปแบบของเครือข่ายการป้องกันอาชญากรรมบนอินเตอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรม กระบวนการเชิงปฏิสัมพันธ์ภายใน ของเครือข่ายฯ และความเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายการป้องกันอาชญากรรมบนอินเตอร์เน็ตกับกระบวนการยุติธรรม เพื่อนำไปสู่การควบคุมอาชญากรรมในสังคม จากการศึกษาพบว่า การศึกษารูปแบบและกระบวนการเชิงปฏิสัมพันธ์ของเครือข่ายการป้องกันอาชญากรรมบนอินเตอร์เน็ต ได้ศึกษาเครือข่ายฯ ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป เพื่อหาข้อมูลและเบาะแสของผู้ต้องหาที่ก่ออาชญากรรม โดยใช้โปรแกรมเฟสบุ๊คเป็นเครื่องมือในการจัดตั้งเครือข่ายฯ พบว่า มี 3 กรณีศึกษาที่ผู้จัดตั้งเครือข่าย ฯ เป็นผู้เสียหายเอง และ 1 กรณีศึกษาที่ผู้จัดตั้งเครือข่าย ฯ เป็นญาติของผู้เสียหาย สำหรับระยะเวลาในการจับกุมผู้ต้องหาหลังจากตั้งเครือข่ายฯ ใช้ระยะเวลาเฉลี่ย 3 เดือน จึงสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ และหลังจากผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีตามกฎหมายนั้น ทุกเครือข่ายยังคงมีอยู่และเป็นช่องทางในการเตือนภัยและแจ้งข่าวสารอาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง รูปแบบและกระบวนการเชิงปฏิสัมพันธ์ภายในเครือข่ายการป้องกันอาชญากรรมบนอินเตอร์เน็ตที่ได้จากการศึกษา พบว่า เกิดจากการเกิดเหตุอาชญากรรมในสังคม หลังจากนั้นผู้เสียหายได้ดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และตั้งเพจเครือข่ายการป้องกันอาชญากรรมบนเฟสบุ๊ค เพื่อเป็นอีกช่องทางในการตามหาข้อมูลและเบาะแสต่าง ๆ ของผู้ต้องหา ซึ่งหากเครือข่ายฯใดเครือข่ายฯหนึ่งสามารถผลักดันให้เครือข่ายฯของตนออกสู่สื่อกระแสหลัก อาทิ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายเป็นอย่างดี ผู้เสียหายนำข้อมูลที่ได้จากเครือข่ายฯ ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยแต่ละเครือข่าย ฯ มีองค์ประกอบของเครือข่ายฯที่สำคัญมาก คือ สมาชิกเครือข่ายที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือโดยการถูกใจ (Like) แสดงความคิดเห็น (Comment) และแบ่งปันโพสต์ (Share Post) จะเห็นได้ว่า รูปแบบและกระบวนการเชิงปฏิสัมพันธ์ภายในเครือข่ายการป้องกันอาชญากรรมบนอินเตอร์เน็ตดังกล่าว เป็นการป้องกันอาชญากรรมแนวใหม่ที่สอดคล้องกับสังคมยุคโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วและสามารถพัฒนาเป็นรูปแบบการป้องกันอาชญากรรมสมัยใหม่ที่ทันต่อเหตุการณ์ได้ต่อไป