Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาเปรียบเทียบการใช้มโนทัศน์ทางปรัชญาของนักวิชาการผู้มีสกุลความคิดแบบหลังมาร์กซ์ (Post-Marxism) ในปัจจุบันสองท่าน คือ อแลง บาดียู กับสลาวอย ชิเช่ค เพื่อทำความเข้าใจการวิเคราะห์วิกฤตทุนนิยม และผลผลิตที่ได้จากการสังเคราะห์อันได้จากการเปรียบเทียบความคิด จะทำให้เศรษฐศาสตร์การเมือง (political economy) มีทิศทางที่แตกต่างจากสกุลความคิดแบบมาร์กซ์ในแบบดั้งเดิม ผ่านการพิจารณาทั้งในส่วนของปรัชญา ทฤษฏีทางสังคมและการเมือง รวมไปถึงจิตวิทยา เพื่อใช้การทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิกฤตของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม โดยการวิเคราะห์จะเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประธาน (subject) ที่มีความสัมพันธ์กับกระแสของเศรษฐกิจทุนนิยมในปัจจุบัน อันเป็นหนึ่งประเด็นหลักในงานวิชาการทางปรัชญาสกุลความคิดแบบหลังมาร์กซ์ จากการสำรวจพบว่า หลังจากที่ความคิดคอมมิวนิสต์แบบดั้งเดิมเกิดความล้มเหลวในช่วงทศวรรษ 1960 ได้เกิดแนวกระแสความคิดในโลกวิชาการ เช่น สกุลความคิดแบบหลังสมัยใหม่ นักคิดแบบหลังสมัยใหม่นำเสนอในเรื่องขององค์ประธานแบบหลังสมัยใหม่ (postmodern subject) หากแต่นักคิดทั้ง 2 ท่าน ที่วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งทำการเปรียบเทียบ กลับไม่เชื่อในเรื่องขององค์ประธานแบบนักคิดหลังสมัยใหม่ สำหรับบาดียูแล้ว เขามุ่งการทำความเข้าใจสังคมโดยย้อนกลับไปที่ปรัชญา และรากฐานความคิดทางการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ รวมไปถึงเสนอให้มีการคิดถึงความคิดคอมมิวนิสต์ (idea of communism) ในแบบใหม่ ส่วนสลาวอย ชิเช่ค นอกจะเสนอความคิดทางการเมืองแบบสุดขั้วในการต่อต้านความคิดแบบเสรีนิยมใหม่แล้ว เขายังเสนอความคิดในมิติทางจิตใจของผู้คน ที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งพื้นฐานที่สำคัญในการศึกษาความคิด และการวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของนักวิชาการทั้งสองท่าน คือ จิตวิเคราะห์สายลาก็อง (Lacanian psychoanalysis)