Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของไวน์ไทย ได้แก่ ไวน์แดงและไวน์ขาวต่อความหยาบผิวและการ สึกกร่อนของวัสดุบูรณะสีเหมือนฟัน 5 ชนิด ได้แก่ กลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ เรซินโมดิฟายด์กลาส ไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ ไจโอเมอร์ คอมโพเมอร์ เรซินคอมโพสิตและเปรียบเทียบค่าความแตกต่างความหยาบผิวและการสึกกร่อนของวัสดุบูรณะเมื่อแช่ในไวน์ชนิดเดียวกันและต่างชนิดกัน วิธีการทดลอง เตรียมชิ้นตัวอย่างวัสดุบูรณะสีเหมือนฟันกลุ่มละ 10 ชิ้น วัดความหยาบผิวของวัสดุโดยพิจารณาจากค่าความหยาบผิวเฉลี่ยและการสึกกร่อนของวัสดุพิจารณาจากความแตกต่างความขรุขระของพื้นผิวโดยดูจากปริมาตรหลุมและปริมาตรยอด ด้วยเครื่องวัดความขรุขระผิว นำชิ้นตัวอย่างแช่ไวน์ 25 นาที สลับกับแช่น้ำลายเทียม 5 นาที จนครบ 4 ครั้ง จากนั้นแช่ชิ้นตัวอย่างในน้ำลายเทียม 22 ชั่วโมง แล้วทำซ้ำจนครบ 5 รอบ วัดความหยาบผิว ปริมาตรหลุมและปริมาตรยอดของชิ้นตัวอย่างอีกครั้งด้วยวิธีเดียวกัน ทดสอบค่าที่ได้ด้วยสถิติแพร์ทีเทส วันเวย์อโนวาและอินดีเพนเดนท์ทีเทส ผลการทดลอง ไวน์แดงและไวน์ขาวทำให้ความหยาบผิวและการสึกกร่อนของวัสดุทั้ง 5 ชนิดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (P-value<0.05) เมื่อแช่ในไวน์ชนิดเดียวกันทั้งในไวน์แดงและไวน์ขาว วัสดุแต่ ละชนิดมีความแตกต่างความหยาบผิวและการสึกกร่อนก่อนและหลังแช่ไวน์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (P-value<0.05) กลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์และเรซินโมดิฟายด์กลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์มีความแตกต่างความหยาบผิวเมื่อแช่ไวน์แดงแตกต่างจากไวน์ขาวอย่างมีนัยสำคัญ และกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์มีความแตกต่างการสึกกร่อนเมื่อแช่ไวน์แดงแตกต่างจากไวน์ขาวอย่างมีนัยสำคัญ (P-value<0.05) สรุป ไวน์ไทยทำให้วัสดุบูรณะสีเหมือนฟันมีความหยาบผิวและการสึกกร่อนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์