Abstract:
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะทราบว่าพันธกรณีตามความตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Partnership Agreement: VPA) ภายใต้กฎระเบียบสหภาพยุโรปว่าด้วยไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ [EU Timber Regulation (995/2010)] ส่งผลให้ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายไทยที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลการทำไม้และผลิตภัณฑ์ไม้หรือไม่ ในการศึกษาวิจัย ผู้เขียนได้อธิบายถึงหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมกับมาตรการทางการค้าภายใต้ WTO หลักการสำคัญตาม EUTR และหลักการสำคัญภายใต้พันธกรณีตาม VPA จากการศึกษาดังกล่าวสรุปได้ว่า แม้ว่า EUTR จะเป็นมาตรการฝ่ายเดียวทางการค้าที่ขัดกับหลักการของ WTO ก็ตาม แต่เนื่องจาก EUTR เป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดภาระและความเสี่ยง ต่อผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไปยังสหภาพยุโรป ดังนั้น ประเทศไทยจึงควร เข้าทำ VPA เพื่อผลประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย และเพื่อการพัฒนากฎหมายของไทยที่เกี่ยวข้อง กับการกำกับดูแลการทำไม้ อันจะทำให้การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในกรณีที่ประเทศไทยเข้าทำ VPA กับสหภาพยุโรป ประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีตาม VPA โดยพันธกรณีที่สำคัญคือ การจัดตั้งระบบประกันความถูกต้องตามกฎหมาย ของไม้ เพื่อใช้สำหรับการตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ หากกฎหมายไทยมีช่องว่าง มีความขัดกัน หรือมีความไม่เสมอกันของกฎหมายที่กำกับดูแลการทำไม้ ประเทศไทยจะต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว จากการศึกษาวิจัยนี้ พบว่ากฎหมายไทยต้องมีการแก้ไขปรับปรุงในเรื่องการให้อำนาจ กรมป่าไม้ในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับระบบการตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายของไม้นำเข้า การจัดตั้งองค์กรที่มีอำนาจรับรองแหล่งที่มาของไม้สำหรับไม้บางชนิดที่ยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแล การปรับปรุงกฎหมายซึ่งกำกับดูแลด้านการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม และการจัดตั้งระบบการออกใบอนุญาต FLEGT