Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง บทบาทของสถาพร สนทอง กับวงการนาฏยศิลป์ไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทและความสำคัญของสถาพร สนทอง ที่มีต่อวงการนาฏยศิลป์ไทยใน 5 บทบาท ได้แก่ นาฏยศิลปิน นักนาฏยประดิษฐ์ ผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ผู้บริหารหน่วยงานทางนาฏยศิลป์ไทย และนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยใช้วิธีการดำเนินการวิจัยจากการศึกษาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง เอกสาร สูจิบัตร การสังเกตการณ์การแสดง ตลอดจนการสัมภาษณ์บุคคลที่เคยเกี่ยวข้องกับสถาพร สนทอง ในบทบาทต่าง ๆ ผลการวิจัยพบว่า สถาพร สนทอง เป็นผู้ที่มีบทบาทกับวงการนาฏยศิลป์ไทยเป็นอย่างยิ่ง บทบาทในฐานะนาฏยศิลปิน เป็นนาฏยศิลปินตัวนางที่มากความสามารถ ได้รับการถ่ายทอดกระบวนท่ารำจากบรมครูหลายท่าน มีความเจนจัด สามารถเข้าถึงบทบาท ถ่ายทอดอารมณ์สู่ผู้ชมได้ดี จนได้รับคัดเลือกให้แสดงบทบาทนางอั้วสิม จากละครพันทางเรื่องพญาผานอง เป็นคนแรกของกรมศิลปากร บทบาทในฐานะนักนาฏยประดิษฐ์ เป็นผู้บุกเบิกสร้างสรรค์นาฏยประดิษฐ์รูปแบบใหม่ของกองการสังคีต กรมศิลปากร ซึ่งไม่เคยมีใครกล้าทำมาก่อน โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมีหลักการ คือ 1) กำหนดแนวคิด 2) เลือกสรรและประดิษฐ์ท่ารำ 3) เลือกสรรเพลง ดนตรี 4) จัดระยะ สัดส่วน ระดับ มิติ ทิศทางการเคลื่อนไหวให้เหมาะสมกับพื้นที่ 5) การถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกระหว่างผู้แสดงและผู้ชม 6) เลือกสรรเครื่องแต่งกาย บทบาทในฐานะผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางนาฏยศิลป์ไทย เป็นผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากบรมครูหลาย ๆ ท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ในเรื่องกระบวนการคิด วิธีการสร้างนาฏยประดิษฐ์ เทคนิคการรำ ศิลปะในการวิจารณ์ ทำให้มีรสนิยมดีในการสร้างงาน มีสไตล์ที่โก้เก๋ โดดเด่นและแตกต่าง ซึ่งองค์ความรู้เหล่านั้น ถูกนำไปพัฒนาและต่อยอดให้กับนาฏยศิลปินรุ่นใหม่ บทบาทในฐานะผู้บริหารหน่วยงานทางนาฏยศิลป์ไทย นับเป็นบทบาทที่มีความโดดเด่นที่สุดของสถาพร สนทอง เป็นผู้บริหารหญิงที่มีความเด็ดขาด กล้าหาญ เก่ง มีวิสัยทัศน์ นำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ มีภาวะผู้นำที่ดี ยุติธรรม แก้ปัญหาเฉพาะได้ดี ใฝ่หาความรู้พัฒนาตนเอง ปฏิบัติงานเชิงรุก นำพานาฏยศิลป์ไทยไปสู่สากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน บทบาทในฐานะนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นนาฏยศิลปินที่มากความสามารถ มีความรู้แตกฉาน สร้างผลงานที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมบ่มเพาะเป็นเวลานาน จึงเป็นผู้ที่อุดมไปด้วยองค์ความรู้ในศาสตร์หลาย ๆ แขนง ได้เผยแพร่ในรูปแบบของการสอน การบรรยาย การถ่ายทอดสู่นิสิต นักศึกษา เป็นต้นแบบการทำงานให้กับนาฏยศิลปิน นักนาฏยประดิษฐ์รุ่นหลัง ได้นำองค์ความรู้ไปต่อยอด และปรับใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีออกมาสู่สังคมอย่างมากมาย