Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาแบบตัวอักษร (Typefaces) สี (Colors) ลักษณะภาพ (Images) และเทคนิคในการออกแบบ (Design Techniques) ในการออกแบบเรขศิลป์สำหรับภาพยนตร์ไทยตระกูลต่างๆ วิธีการวิจัยใช้การศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตระกูลภาพยนตร์ไทยโดยการตอบแบบสอบถามและสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ไทยพบว่าสามารถแบ่งได้ 17 ตระกูล จากนั้นนำตระกูลภาพยนตร์ไทยเหล่านี้เป็นตัวแปรต้นเพื่อหาแบบตัวอักษร สี ลักษณะภาพ และเทคนิคในการออกแบบ โดยใช้เครื่องมือในการวิจัย คือ แบบสอบถามเชิงคุณภาพ 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนที่ 1 ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบตอบเพื่อหาแบบตัวอักษรที่เหมาะกับภาพยนตร์ไทยแต่ละตระกูล ขั้นตอนที่ 2 ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบตอบแบบเพื่อหาสี ลักษณะภาพ และเทคนิคในการออกแบบ โดยได้นำแนวนิยมเรขศิลป์ซึ่งมีทั้งสิ้น 13 แนวนิยมมาใช้เป็นตัวแทนขององค์ประกอบและหลักการทางเรขศิลป์ โดยในขั้นตอนนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการทำโฟกัสกรุ๊ปสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อคัดกรองตัวเลือกแนวนิยมเรขศิลป์ จากนั้นจึงนำตัวเลือกเหล่านั้นไปสร้างเป็นแบบสอบถามเพื่อถามผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอีกชุด เพื่อระบุแนวนิยมเรขศิลป์ที่เหมาะสมที่สุด และนำผลลัพธ์มาวิเคราะห์แยกเป็นองค์ประกอบสี ลักษณะภาพ และเทคนิคในการออกแบบในขั้นสุดท้าย สรุปผลการวิจัย ในส่วนของแบบตัวอักษร ผลที่ได้แตกต่างกันอย่างชัดเจนในแต่ละตระกูลภาพยนตร์ไทย ยกเว้นภาพยนตร์ผจญภัย ภาพยนตร์ตลกพระ และภาพยนตร์ตลกเสียดสีที่ได้ผลที่ไม่ดีที่สุดแต่ก็สามารถนำไปใช้งานได้ ส่วนสี ลักษณะภาพ และเทคนิคในการออกแบบได้ผลตรงกันในหลายตระกูล ได้แก่ ภาพยนตร์ผจญภัย ภาพยนตร์สะท้อนปัญหาสังคม และภาพยนตร์สยองขวัญ ได้ผลตรงกัน ภาพยนตร์สัตว์ ภาพยนตร์เด็ก ภาพยนตร์ตลกล้อเลียน และภาพยนตร์ตลกเสียดสี ได้ผลตรงกัน ในขณะที่ภาพยนตร์ชีวิต ภาพยนตร์รัก ภาพยนตร์ตลกผี และภาพยนตร์ตลกพระได้ผลที่ไม่ดีที่สุดแต่ก็สามารถนำไปใช้งานได้