Abstract:
ศึกษาสถานการณ์ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานราชการไทย ระดับความเข้าใจต่อพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศของข้าราชการในหน่วยงานราชการไทย การดำเนินการของหน่วยงานเกี่ยวกับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานราชการไทย และศึกษาความจำเป็นในการมีนโยบายการป้องกันปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานราชการไทย โดยผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตการศึกษาไว้เฉพาะข้าราชการผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานราชการ จำนวน 6 หน่วยงานในเขต กรุงเทพมหานคร จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย และได้เก็บรวบรวมข้อมูลทั้งจากแหล่งทุติยภูมิและการใช้แบบสอบถาม และการสัมภาษณ์ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า 1. ในความเห็นของหัวหน้าส่วนเสริมสร้างวินัยของหน่วยงานราชการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างพบว่า สถานการณ์ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศของข้าราชการในหน่วยงานราชการไทย ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งตรงกับข้อมูลทางสถิติการล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานราชการไทยที่เก็บรวบรวมไว้ โดยสำนักงาน ก.พ. และข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์กรรมการในอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนวิสามัญเกี่ยวกับวินัยและการออกจากราชการ แต่ขณะเดียวกันก็พบว่าจากแบบสอบถามที่สอบถามไปยังข้าราชการกลุ่มตัวอย่าง ยังมีรายงานเรื่องข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานมายังผู้วิจัย ซึ่งแสดงว่าการล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานยังคงมีอยู่ แต่ผู้ให้ข้อเสนอแนะไม่ได้รายงานผู้บังคับบัญชา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานราชการไทยที่ดูเหมือนว่าจะต่ำ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังคงมีเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานเกิดขึ้น แต่เรื่องราวกลับไปไม่ถึงกระบวนการสอบสวน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาต่อไปว่าเกิดจากสาเหตุใด 2. ความเข้าใจต่อพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศของข้าราชการในหน่วยงานราชการไทยนั้น ข้าราชการไทยมีความเข้าใจต่อความหมายของการล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานในระดับปานกลาง และมีความรู้ความเข้าใจอยู่ในระดับน้อย ยังไม่สามารถแยกแยะรูปแบบของการล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานได้
3. การดำเนินการของหน่วยงานเกี่ยวกับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานราชการไทย หน่วยราชการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าว่าแนวปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานราชการที่ออกโดยสำนักงาน ก.พ. เหมาะสมอยู่แล้ว และข้าราชการผู้ตอบแบบสอบถาม ก็มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตนเมื่อเจอเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานราชการ สำหรับการป้องกันปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานพบว่า การให้ความรู้ทางด้านศีลธรรมควบคู่กับการแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนจากทางหน่วยงานกลาง ได้แก่ สำนักงาน ก.พ. และหากเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานมีจำนวนมากขึ้น อาจมีการพิจารณาจัดตั้งศูนย์ในการดำเนินงานโดยเฉพาะ รวมทั้งโทรศัพท์สายด่วน และการขอความร่วมมือกับหน่วยงานเอกชน ประเภทมูลนิธิ เป็นสิ่งสำคัญ ส่วนผู้รับผิดชอบควรเป็นผู้บังคับบัญชาในทุกระดับ และข้าราชการผู้ตอบแบบสอบถาม อยากให้หน่วยงานราชการมีการฝึกอบรม การป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศอย่างเป็นรูปธรรม และอยากให้มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนกรณีการล่วงละเมิดทางเพศ โดยปกปิดชื่อผู้ร้องเรียนเป็นความลับ และ 4. ความจำเป็นในการมีนโยบายการป้องกันปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานราชการไทยนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงานราชการ ซึ่งปัจจุบัน ความรุนแรงของเหตุการณ์ยังมีไม่มากนัก และสำนักงาน ก.พ. กำลังจะผลิตคู่มือขึ้นมาประกอบกฎ ก.พ. ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ หรือคุกคามทางเพศ พ.ศ. 2553 เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ข้าราชการ และกำลังจะมีการประเมินและติดตามผลการนำ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ หรือคุกคามทางเพศ พ.ศ. 2553 ในเร็วๆ นี้ เพื่อติดตามว่า เมื่อนำมาบังคับใช้แล้ว ได้ผลเป็นอย่างไร