Abstract:
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนการสอนภาษาเยอรมันที่สอดแทรกการฝึกกลวิธีการเรียนรู้ภาษาเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง และเพื่อประเมินผลการใช้กระบวนการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น โดยพิจารณาจากระดับการใช้กลวิธีเรียนรู้ภาษา ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง และความสามารถในการทดลองปฏิบัติการสอนในชั้นเรียนจริง กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตวิชาเอกภาษาเยอรมัน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 5 คน ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชา 2725346 เสริมทักษะการใช้ภาษาสำหรับครูภาษาเยอรมัน 1 ในภาคต้น และวิชา 2725347 เสริมทักษะการใช้ภาษาสำหรับครูภาษาเยอรมัน 2 ในภาคปลาย ปีการศึกษา 2550 การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้สถิติบรรยาย ได้แก่ การวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การพล๊อตกราฟ และสถิติอนุมาน ได้แก่ การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการสรุปและวิเคราะห์ข้อมูลจากบันทึกการเรียนรู้ของผู้เรียน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. กระบวนการเรียนการสอนภาษาเยอรมันที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 2 ขั้นตอน คือ 1) การจัดการเรียนการสอนภาษาเยอรมันที่สอดแทรกการฝึกกลวิธีการเรียนรู้ภาษา ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนย่อย 6 ขั้นตอน คือ 1.1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ที่สอดแทรกกลวิธีที่ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษา ด้านการจำ 1.2) ขั้นนำเสนอเนื้อหา ที่สอดแทรกกลวิธีที่ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษา ด้านการใช้ภาษา และการทำความเข้าในกับข้อมูลทางภาษา 1.3) ขั้นทำความเข้าใจ/สรุปกฎเกณฑ์ ที่สอดแทรกกลวิธีที่ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษา ด้านการใช้ภาษา และการทำความเข้าใจกับข้อมูลทางภาษา 1.4) ขั้นฝึกปฏิบัติ ที่สอดแทรกกลวิธีที่ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษา ด้านการจำ การทำความเข้าใจกับข้อมูลทางภาษา และการใช้ภาษา 1.5) ขั้นคิดสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ ด้วยการเขียนบันทึกการเรียนรู้ หรืออภิปรายกลุ่ม 1.6) ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ ด้านทักษะทางภาษา และทักษะการใช้กลวิธีที่ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษา และ 2) การศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่ฝึกการใช้กลวิธีที่ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาและการใช้กลวิธีที่สนับสนุนและควบคุมกระบวนการเรียนรู้ภาษา 2. การประเมินผลการใช้กระบวนการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น พบว่า 2.1 ผู้เรียนมีคะแนนเฉลี่ยการใช้กลวิธีการเรียนรู้ภาษา ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติระดับ 0.05 2.2 ผู้เรียนมีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ในระดับดี 2.3 ผู้เรียนมีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการทดลองปฏิบัติการสอนในชั้นเรียนจริง 
ทั้งด้านการเตรียมแผนการจัดการเรียนรู้และด้านการดำเนินการจัดการเรียนรู้ ในระดับดี 3. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากบันทึกการเรียนรู้ของผู้เรียน แสดงให้เห็น ว่า การ เรียนรู้ตามกระบวนการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาทั้งทักษะทางภาษา เยอรมัน และทักษะการใช้กลวิธีการเรียนรู้ภาษา ควบคู่กับการเรียนรู้ขั้นตอนการสอนภาษา รวมทั้งได้พัฒนาทักษะด้านการคิดและการสังเกต