Abstract:
จากรายงานต่างๆ ที่ผ่านมามีการตรวจสอบ ANCA ในโรคหลอดเลือดอักเสบต่างๆ หลายชนิด สามารถนำมาเป็นประโยชน์ทางคลินิกใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการรักษาและเฝ้าติดตามโรคได้เป็นอย่างดี แต่ยังไม่มีการศึกษาในโรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ การวิจัยครั้งนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาหาความชุกของแอนตีนิวโทรฟิลซัยโตพลาสมิกแอนตีบอดี (ANCA) โดยวิธี Indirect immunofluorescent (IIF) ในผู้ป่วยหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบและศึกษาถึงประโยชน์ในทางคลิกนิกของการตรวจพบ ANCA นี้ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประวัติการเจ็บป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการรักษาของผู้ป่วย นำมาเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยที่ตรวจพบ ANCA และผู้ป่วยที่ตรวจไม่พบ ANCA เพื่อใช้ประโยชน์ในการเฝ้าติดตามการรักษาและศึกษาถึงพยาธิกำเนิดของ ANCA ต่อโรคดังกล่าวนี้ผลการวิจัยได้ผู้ป่วยเข้าศึกษา 33 ราย สาเหตุของการเกิดโรคเกิดจากไม่ทราบสาเหตุ 28 ราย และเป็นผู้ป่วย Henoch-Schoenlein purpura 5 ราย สามารถตรวจพบ ANCA ในน้ำเหลืองของผู้ป่วย 19 ราย จากทั้งหมด 33 ราย คิดเป็นร้อยละ 57.6 พบการเรืองแสงเป็น C-ANCA 17 รายและ P-ANCA 2 ราย การตรวจพบ ANCA นี้มีความสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ โดยตรวจไม่พบในกลุ่มคนปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.00001 ระดับความเข้มข้นพบว่าส่วนใหญ่เท่ากับ 1:256 การศึกษาความแตกต่างระหว่างผู้ป่วยหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบที่ตรวจพบ ANCA และการตรวจไม่พบ ANCA
พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทางด้านอายุ เพศ การเกิดโรคเป็นครั้งแรก หรือเป็นซ้ำ ความรุนแรงของโรคเช่น ความรุนแรงของผื่นที่ผิวหนัง และการเกิดภาวะแทรกซ้อน การที่ตรวจพบ ANCA ในผู้ป่วยหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบนี้โดยไม่พบในคนปกติ เป็นการสนับสนุนผลงานวิจัยต่างๆ ที่ผ่านมาว่า ANCA น่าจะมีความสัมพันธ์กับโรคนี้ แต่เนื่องจากไม่มีความแตกต่างในลักษณะทางคลินิกระหว่างผู้ป่วยที่ตรวจพบ ANCA และตรวจไม่พบ ANCA รวมทั้งไม่มีความแตกต่างกันในด้านความรุนแรงของโรคระหว่างผู้ป่วยที่มีระดับความเข้มข้นสูงหรือต่ำ จึงสรุปได้ว่าการตรวจพบ ANCA อาจจะเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่พบร่วมกับโรคหลอดเลือดเล็กอักเสบเท่านั้น